บทที่5 ศิลปะไทย

 
                ศิลปะไทย เป็นศิลปะที่สร้างขึ้นมาเพื่ออุทิศให้กับศาสนาพุทธเป็นส่วนมากมีลักษณะเป็นแบบอุดมคติคือมีลักษณะ ไม่เหมือนจริง แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะงานคือ จิตรกรรม ประติมากรรม(ปฏิมากรรม) สถาปัตยกรรม ส่วนงานอื่น ๆ เช่นวรรณคดี ดนตรี การแสดง นั้นมักแยกไปศึกษาในลักษณะของศาสตร์นั้นๆโดยเฉพาะ อีกทั้งผลงานดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นศิลปวัตถุจึงไม่สามารถนำมาศึกษารวมกันในที่นี้ นอกจากนี้ศิลปะไทยยังแบ่งออกเป็นยุคสมัยต่างๆ ดังนี้  สมัย ทวารวดี สมัยศรีวิชัย สมัยลพบุรี สมัยเชียงแสนหรือล้านนา สมัยสุโขทัย สมัยอู่ทอง สมัยอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์ และสมัยปัจจุบัน งานศิลปะที่เด่นที่สุดของสมัยต่างๆ คืองานด้านประติมากรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างพระพุทธรูปซึ่งเรียกเฉพาะว่างาน ปฏิมากรรม และงานสถาปัตยกรรมเช่น สถูปเจดีย์โบสถ์ วิหาร ในสมัยปัจจุบันมีอิทธิพลของตะวันตกเข้ามามีบทบาทในการสร้างงานศิลปะจนกลาย เป็นแบบสากลแต่ศิลปินส่วนหนึ่งยังคงสร้างงานในรูปแบบเดิมที่เรียกว่า ศิลปะประเพณี Traditional Art

1. งานจิตรกรรมไทย (Thai Painting)
งานจิตรกรรมไทยมีลักษณะเป็นแบบอุดมคติ (Idealistic) ซึ่งมีลักษณะงดงามเกินความเป็นจริง ที่มองเห็นทั่วไปในธรรมชาติเพราะเป็นเรื่องที่สร้างขึ้นประกอบศาสนาซึ่งมีลักษณะเด่นๆ โดยรวมดังนี้
1. มีลักษณะเป็นแบบอุดมคติ
2. เน้นรายละเอียดต่างๆ ลวดลายวิจิตรบรรจง
3. ยึดเอาจุดสนใจของเรื่องเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงสัดส่วนที่เหมาะสม เช่นชาดกเรื่องพระเวสสันดรเน้นพระเวสสันดรเป็นจุดเด่น โดยการเขียนให้มีขนาดใหญ่กว่าปกติหรือคนอื่นๆ ในภาพเดียวกัน
4. แสดงอารมณ์ด้วยเส้นขอบและท่าทาง ดังนั้นหน้าตาจึงคล้ายกันไปหมด ใช้ท่าทางบอกอารมณ์ว่าโกรธ ร่าเริง พอใจ ซึ่งนำมาจากท่าทางของโขนหรือละคร
5. นิยมเขียนภาพเป็นแบบ 2 มิติ ลักษณะเป็นภาพแบนๆ ใช้เส้นตัดขอบ ไม่มีการให้แสงเงาหรือตำแหน่งใกล้ไกล แต่ระยะหลังรับอิทธิพลของการเขียนภาพแบบตะวันตก มีลักษณะเป็นแบบทัศนียภาพ Perspective จิตรกรไทยที่นำมาใช้เป็นคนแรกและมีชื่อเสียงมากคือ ขรัวอินโข่ง ในสมัย ร.4
6. นิยมเขียนภาพแบบตานกมอง Bird’s eye view เป็นการเขียนบรรยายเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบ โดยมีเส้นซิกแซกกั้น เรียกว่าเส้นสินเทา หรืออาจใช้แนวภูเขา ต้นไม้กั้น
7. มักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา นิทานชาดก วรรณคดี


หลักการเขียนภาพงานจิตรกรรมไทย มีส่วนประกอบที่สำคัญ 4 อย่างคือ
1. กนก คือลวดลายไทยที่ดัดแปลงมาจากธรรมชาติเช่นดอกไม้ ใบไม้ น้ำ เปลวไฟ
2. นาง (นารี) คือภาพคนทั้งหมด เช่น พระนางทั่วไป คน
3. ช้าง (คชะ) คือภาพสัตว์ทั้งหลายยกเว้นลิง
4. ลิง (กระบี่) คือลิงทุกตัวในวรรณคดีรวมทั้งยักษ์ด้วย
กนก
นาง (นารี)
ช้าง (คชะ)
ลิง (กระบี่)

กรรมวิธีการเขียนภาพไทย มักเขียนประดับตามฝาผนังโบสถ์ วิหาร ศาลาวัด (Mural Painting) มีวิธีเขียนอยู่ 3 วิธีคือ
1. เขียนสีฝุ่นปูนแห้ง Tempera เป็นการเขียนโดยการผสมสีฝุ่นกับกาวหนังหรือ กาวกระถิน หรือไข่ขาวผสมน้ำผึ้ง แล้วเขียนลงบนผนังปูนที่ฉาบแห้งสนิทแล้ว สามารถเก็บรายละเอียดของภาพได้ดี ใช้เวลาเขียนนานมาก อายุของภาพสั้นเนื่องจากหลุดลอกได้ง่ายเมื่อโดนน้ำ หรือแสงแดด
2. การเขียนแบบปูนเปียก (Fresco) คือการเขียนสีฝุ่นผสมลงบนผนังปูนหลังจากที่ช่างฉาบเสร็จหมาด ๆ เพื่อให้สีซึมเข้าไปในเนื้อปูน เป็นการเขียนแข่งกับเวลาที่ปูนจะแห้งตัวจึงต้องเขียนอย่างรวดเร็ว เก็บรายละเอียดได้น้อย แต่อายุของภาพจะยาวนานกว่าแบบแรก และลักษณะของภาพจะเป็นช่อง ๆ จึงไม่เป็นที่นิยมมากนัก
3. การเขียนแบบลงรักปิดทอง หรือการเขียนแบบสีฝุ่นผสมการปิดทองเพื่อเน้นจุดเด่นในภาพ เช่นงานเขียนลวดลายตู้พระธรรม ตู้พระไตรปิฎก
จิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์
จิตรกรรมสมัยเชียงแสน(ล้านนา)

วิวัฒนาการของจิตรกรรมไทย
จากหลักฐานของงานจิตรกรรมไทยนั้นปรากฏว่าเริ่มต้นตั้งแต่สมัยสุโขทัยและมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
1.สมัยสุโขทัย มีภาพที่แกะสลักหินเป็นลายเส้น ซึ่งเรียกว่าภาพแกะลายเบาอยู่ที่ช่องกำแพงวัดศรีชุม จ.สุโขทัย จิตรกรรมแบบระบายสีในสมัยสุโขทัยก็คือภาพผนังที่วัดเจดีย์เจ็ดแถวอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ลักษณะของภาพเป็นการเขียนโดยใช้สีแดง สีขาวและสีดำ เข้าใจว่าสีอื่น ๆ เช่น สีเขียวยังไม่มีใช้

2. สมัยอยุธยา มีงานจิตรกรรมที่สำคัญ ๆ ดังนี้
2.1 จิตรกรรมสีปูนเปียก (Fresco) ที่ปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
2.2 ภาพผนังในเจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
2.3 ภาพผนังในพระปรางค์วัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี
2.4 ภาพผนังโบสถ์วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี
นอกจากนั้นยังมีจิตรกรรมฝาผนังที่อื่น ๆ อีกเช่น ที่วัดพุทธไธสวรรย์ จังหวัดอยุธยา วัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี ภาพในหอเขียนวังสวนผักกาด และเป็นที่น่าสังเกตว่าการเขียนภาพแบบที่มองจากที่สูงหรือแบบนกมอง
3. สมัยธนบุรี มีภาพไตรภูมิซึ่งแสดงถึงโลกทั้ง 3 คือ สวรรค์ โลกมนุษย์ และนรก ปัจจุบันนี้ภาพจิตรกรรมไทยในสมุดไตรภูมิของสมัยธนบุรีถูกเก็บรักษาไว้ในพระที่นั่งศิวโมกข์วิมานพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
4. สมัยรัตนโกสินทร์ เนื่องจากได้มีการสร้างวัดขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงต้องระดมเอาศิลปินมาจากอยุธยาเพื่อช่วยกันเขียนภาพฝาผนังในวัดต่าง ๆ เหล่านั้น รูปแบบการเขียนภาพของศิลปินในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีอิทธิพลต่อการเขียนภาพในสมัยต่อมาอย่างยิ่ง อาจจะเรียกว่าเป็นสมัยสูงสุด (Classic) ของกิจกรรมไทยก็ได้ ดังตัวอย่างจากผลงานของพระที่นั่งพุทธไธศวรรย์ หรือที่วัดสุทัศน์และวัดสุวรรณารามเป็นต้น
ศิลปินได้สร้างผลงานที่มีความแตกต่างกันถึง 5 ประเภทดังนี้
- ประเภทที่เกี่ยวกับเรื่องเทวดา เรื่องเทพนิยายลึกลับ และเรื่องของบุคคลในราชวงศ์
- ประเภทที่เกี่ยวกับการใช้ตัวละครของรามเกียรติ์
- ประเภทที่เกี่ยวกับการฟ้อนรำ การเกี้ยวพาราศี และบุคคลชั้นสูง ซึ่งมีความแตกต่างกันตามยศศักดิ์
- ประเภทที่เกี่ยวกับคนธรรมดาสามัญ แสดงชีวิตความเป็นอยู่ มีการแทรกเรื่องราวประเภทตลกขบขัน ซึ่งเป็นลักษณะที่ร่าเริงของคนไทย
- ประเภทที่เกี่ยวกับฉากนรกมักแสดงถึงชีวิตความเป็นอยู่ธรรมดาแต่เป็นเรื่อง ราวที่เกี่ยวกับการลงโทษมนุษย์อย่างรุนแรงที่สุดตามแต่จะจินตนาการขึ้นมาได้ ตัวอย่างภาพเหล่านี้ปรากฏอยู่ตามวัดสำคัญ ๆ คือ ภาพผนังของพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ภาพผนังวัดดุสิตตาราม ภาพผนังที่วัดสุทัศน์ ภาพผนังที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภาพผนังวัดเชตุพนวิมลมังคลารามแลวัดสุวรรณาราม เป็นต้น
ผลงานจิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ นอกจากจะมีอยู่ในกรุงเทพมหานครดังกล่าวแล้ว ยังมีภาพผนังตามวัดต่าง ๆ ในจังหวัดอื่น ๆ อีกเช่น ที่วัดสุวรรณดารารามจังหวัดอยุธยา วัดใหญ่อินทารามจังหวัดชลบุรี วัดราชบูรณะจังหวัดพิษณุโลก รวมทั้งการเขียนภาพผนังของวัดทางภาคเหนือที่จัดทำขึ้นมาในช่วงเวลานี้อีก ด้วย เช่นที่วัดพระสิงห์จังหวัดเชียงใหม่ วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน เป็นต้น
5. สมัยปัจจุบัน โดยมากมักจะถือเอาสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 เป็นจุดเริ่มต้น ผลงานศิลปะต่าง ๆ ในสมัยนี้ได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตกมาเป็นส่วนมาก รวมทั้งงานด้านจิตรกรรมด้วยทำให้มีการประยุกต์วิธีการเขียนภาพและวัสดุต่าง ๆ มาเป็นวัสดุสมัยใหม่ตามแบบตะวันตก เช่นใช้สีอะครีลิคหรือสีน้ำมันแทนสีฝุ่น หรือแม้กระทั่งใช้เทคนิคการพิมพ์ภาพแทนการเขียนภาพ ส่วนรูปแบบในการเขียนก็มีการนำเอาจินตนาการแปลกใหม่มาผสมกับรูปแบบจิตรกรรมประเพณีแบบดั้งเดิม ทำให้ภาพเขียนที่เป็นแบบสมัยใหม่และนำไปตกแต่งอาคารบ้านเรือนได้แทนที่จะปรากฎอยู่แต่บนผนังโบสถ์ วิหาร เช่นแต่ก่อน แนวโน้มของจิตรกรรมไทยคงจะมีการเขียนด้วยรูปแบบที่เหมาะสมกับยุคสมัยไปเรื่อย ๆ และแพร่หลายไปสู่สาธารณะมากขึ้นกว่าสมัยที่ผ่านมา
จิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ ( คณะกรรมการจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี . 2525 : 18-22 )
·       สมัยรัชกาลที่ 1 ศิลปินสำคัญได้แก่ พระอาจารย์นาค จิตรกรรมไทยแบบประเพณีมีลักษณะเฉพาะสรุปได้ดังนี้
          1. โครงสร้างสีส่วนใหญ่ใช้สีแดง นิยมเขียนเส้นสินเทากั้นภาพปราสาทท้องฟ้า
          2. แสดงฐานะแตกต่างด้วยสี เช่น องค์พระพุทธเจ้าทรงสีแดงคล้ำ ที่เนื้อปิดทอง
·       สมัยรัชการที่ 2 ศิลปินสำคัญได้แก่ หลวงเสนีย์บริรักษ์ (ครูคงแป๊ะ)หลวงวิจิตเจษฎา(ครูทองอยู่ )
·       สมัยรัชการที่ 3 ศิลปินสำคัญได้แก่ ครูทองอยู่
·     สมัยรัชการที่ 4 เริ่มนำวิธีการเขียนภาพแบบตะวันตกตามหลักทัศนียภาพมาผสมผสานกับจิตรกรรมไทยแบบประเพณี ผลก็คือ ผลงานสื่อให้เห็นระยะใกล้ - ไกล แสดงความรู้สึกแบบ 3 มิติ กล่าวได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนของจิตรกรรมไทยแบบประเพณีที่มีลักษณะเฉพาะของศิลปะแบบอุดมคติ และแบบเหมือนจริง เช่น ภาพเขียนในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส พระอุโบสถวัดมหาพฤฒารามกรุงเทพมหานคร พระอุโบสถวัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา จิตรกรเอกคือ พระอาจารย์อินโข่งหรือเรียกกันว่า ขรัวอินโข่ง
·     สมัยรัชการที่ 5 เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของศิลปะไทยแบบประเพณี และศิลปะแบบสมัยใหม่ จิตรกรเริ่มถ่ายทอดรูปแบบที่แสดงความรู้สึกส่วนตัวและเนื้อหาสัมพันธ์กับยุคสมัย ขณะเดียวกันจิตรกรรมในส่วนภูมิภาคยังคงยึดศิลปะแบบอุดมคติ เช่น จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ วิหารวัดบวกครกหลวง จังหวัดเชียงใหม่ วิหารวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน
·       สมัยรัชการที่ 6พ . ศ .2456 ตั้งโรงเรียนเพาะช่าง ให้การศึกษาศิลปะวิทยาการหลายสาขาทั้งแบบประเพณีนิยมและแบบสากลนิยม
·     สมัยรัชกาลที่ 7 เป็นปีเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 150 ปี มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบประเพณีในพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดย พระเทวาภินิมมิต ( ฉาย เทียมศิลปไชย ) เป็นผู้ควบคุม ร่วมกับจิตรกร เช่นหลวงจิตรยง ครูทองอยู่ อินมี ครูเลิศ พ่วงพระเดช     นายสวงษ์ ทิมอุดม และคนอื่นๆ ภาพเขียนมีรูปแบบจิตรกรรมไทยประเพณีแสดงระยะใกล้ - ไกล เนื้อหาเกี่ยวกับรามเกียรติ์ ขณะที่พระยาอนุศาสตร์ จิตรกร ( จันทร์ จิตรกร ) เขียนจิตรกรรมฝาผนังพระวิหารสุวรรณดาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยใช้สีน้ำมันแทนสีฝุ่น รูปแบบเป็นศิลปะสากล แสดงความรู้สึกระยะใกล้ - ไกลแบบ 3 มิติ เน้นกายวิภาคคนให้ถูกสัดส่วน การให้แสง - เงา ระยะของสีและการสร้างบรรยากาศเลียนแบบธรรมชาติ นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพระนเรศวรมหาราช พ . ศ .2476 ตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม ( โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง ) โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (CorradoFeroci, ค . ศ .1892-1962) ชาวอิตาลี เป็นผู้วางรากฐานจัดการศึกษาเกี่ยวกับวิชาช่างสาขาจิตรกรรม และประติมากรรมในรูปแบบศิลปะไทยแบบประเพณี และศิลปะสากล
·     สมัยรัชกาลที่ 8 สถาบันทางศิลปะของรัฐสนับสนุนเปิดการแสดงงานศิลปะ การประกวดภาพจิตรกรรม พ . ศ .2486 จัดตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นสถาบันศิลปะขั้นอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศ มีหน้าที่ผลิตศิลปินสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัย และศิลปะไทยแบบประเพณี
·       สมัยรัชกาลที่ 9 พ . ศ .2492 จัดแสดงศิลปกรรมแห่งชาติขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย
รูปแบบการจัดวางตำแหน่งภาพจิตรกรรมฝาผนังในอาคารและความหมายแฝง
          ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พบตามโบสถ์ วิหาร ในวัดทั่วไป ส่วนที่มักมีภาพจิตรกรรมเขียนอยู่ คือ ผนังหุ้มกลองด้านหน้า ( ผนังตรงข้ามพระประธาน ) ผนังหุ้มกลองด้านหลัง ( ผนังด้านหลังพระประธาน ) ผนังด้านข้าง พระประธานทั้ง 2 ด้าน ตั้งแต่เหนือขอบหน้าต่าง ขึ้นไปจนถึงเพดานซึ่งรวมเรียกว่า            คอสอง ผนังระหว่างช่องหน้าต่างและบนบานประตู หน้าต่างทั้งด้านหน้า - ด้าน หลัง และบนเพดานการจัดวางเนื้อหาเรื่องราวภาพจิตรกรรมฝาผนังในอาคาร โดยมากมักนิยมจัดวางตำแหน่งภาพซึ่งแฝงความหมายอันเป็นหลักธรรมในพุทธศาสนาดังต่อไปนี้
          1. ผนังหุ้มกลองด้านหน้า ( ผนังตรงข้ามพระประธาน ) เหนือขอบประตู นิยมเขียนภาพพุทธประวัติตอนมารผจญเต็มทั้งผนัง เป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายแฝงว่าพระพุทธเจ้าทรงเอาชนะพญามารซึ่งเปรียบได้ กับการที่พระองค์สามารถละกิเลสทั้งปวงจนสามารถตรัสรู้ค้นพบสัจธรรมอันเป็นหน ทางหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง
          2. ผนังหุ้มกลองด้านหลัง ( ผนังด้านหลังพระประธาน ) นิยมเขียนภาพไตรภูมิ ซึ่งเป็นภาพจำลองของจักรวาลตามความคิดของคนโบราณ บางแห่งอาจเขียนภาพพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปเทศนาโปรดพุทธมารดา บนสวรรค์ และตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์พร้อมทั้งเปิดโลกทั้งสาม คือ สวรรค์ โลกมนุษย์และนรกภูมิให้เห็นทั่วถึงกัน เป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายแฝงว่าพระพุทธเจ้าทรงหันหลังให้กับการเวียนว่าย ตายเกิดซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ของสัตว์โลกทั้งปวง มุ่งแสวงหาสัจธรรมเพื่อสั่งสอนให้สัตว์โลกทั้งหลายหลุดพ้นจากความทุกข์
          3. ผนังด้านข้างพระประธานทั้ง 2 ด้าน ตั้งแต่เหนือขอบหน้าต่างขึ้นไปจนถึงเพดานซึ่งรวมเรียกว่า คอสอง นิยมเขียนภาพเทพชุมนุม เป็นรูปเทวดา อสูร ครุฑ นาค นั่งเรียงเป็นแถว แบ่งเป็นชั้น ทุกภาพต่างประนมมือหันหน้าเข้าหาพระประธาน รวมถึงหมู่วิทยาธร ฤาษี คนธรรพ์ถือช่อดอกไม้ทิพย์ซึ่งจิตรกรนิยมวาด ไว้บริเวณคอสองตอนบนสุดใกล้กับเพดานและใช้เส้นสินเทารูปหยักฟันปลาเป็นเส้นแบ่งจากภาพเทพชุมนุม เป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายแฝงว่าหมู่เทพ ทั้งปวงทุกชั้นฟ้าต่างมาชุมนุมกันเพื่อฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าโดยใช้พระประธานเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์
          4. ผนังระหว่างช่องหน้าต่าง ผนังส่วนนี้มีพื้นที่กว้างพอประมาณเรียกว่า ห้องพื้นผนัง ส่วนมากจิตรกรนิยมเขียน ภาพเป็นเรื่องที่จบในตอนเดียวกัน แล้วแต่ว่า จะหยิบยกเรื่องตอนใดมาวาด แต่มักเป็นตอนสำคัญที่รู้จักกันทั่วไป เช่นพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าแสดง ยมกปาฏิหาริย์ทรมานเหล่าเดียรถีร์ หรือเลือก เขียนภาพชาดกที่พบเสมอคือทศชาติชาดก แบ่งเขียนเป็นห้องๆละ 12 พระชาติ หรืออาจแบ่งเขียนเป็นตอนๆ จากเรื่องขนาดยาว เช่น มหาเวสสันดรชาดก ก็แบ่งเขียนผนังละ 12 กัณฑ์ ก็มี แต่นิยมเขียนเรื่องราวต่อเนื่องกันไปจนจบเรื่องตามจำนวนช่องผนังที่มี เช่นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดสุวรรณาราม เขตบางกอกน้อย ผนังด้านซ้ายของพระประธานเขียนเรื่องทศชาติชาดกเรียงไปโดยลำดับ ส่วนผนังด้านขวามือ พระประธานเขียนเรื่องมหาเวสสันดรชาดก เรียงกันไปจนครบทุกกัณฑ์
          5. บานประตู หน้าต่าง โดยทั่วไปนิยมทำเป็นภาพเทวดาถืออาวุธยืนบนแท่นมียักษ์แบกหรือยืนบนหลังสัตว์พาหนะซึ่งรวมเรียกว่า ทวารบาล มีหลายรูปแบบ ทั้งแบบไทยประเพณีหรือแบบไทยปนจีนที่เรียกว่า เซี่ยวกาง โดยอาจทำเป็นภาพเขียนระบายสี ลายรดน้ำ หรือไม้แกะสลักก็ได้ บางแห่งอาจทำลวดลาย ให้มีความหมายสัมพันธ์กับสถานที่ก็ได้ เช่นบานประตู หน้าต่าง ของวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ทำเป็น ลายรดน้ำรูประฆัง เป็นต้น
          6. เพดาน มักนิยมเขียนภาพผูกลวดลายเป็นดอกดวง เรียกว่า ดาวเพดาน หมายถึงดวงดาวในจักรวาลซึ่ง สัมพันธ์กับภาพจิตรกรรมบนผนังด้านหลัง และด้านข้างพระประธาน ส่วนในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีการติดต่อกับจีนมาก ภาพบน เพดานก็จะสอดแทรกสัญลักษณ์มงคลของจีน แฝงไว้ด้วย เช่นค้างคาว ดอกโบตั๋น เป็นต้นรูปแบบของการจัดวางภาพจิตรกรรมฝาผนังที่กล่าวมานั้น สามารถ ใช้เป็นตัวอย่างพื้นฐานเบื้องต้น ในการศึกษาและชมภาพจิตรกรรมฝาผนังให้เข้าใจง่ายขึ้น แต่ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ปรากฏในประเทศไทย แต่ละแห่งอาจแตกต่างกันโดยวางตำแหน่งของ ภาพสลับที่กันได้ ไม่เป็นแบบแผนแน่นอนตายตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจิตรกรจะพิจารณาเห็นสมควร การดูภาพจิตรกรรมฝาผนังให้เข้าใจจึงเป็นเรื่องที่ทำให้เกิด ความสนุกสนานในการชม ได้รับความรู้และคติสอนใจที่แฝงอยู่ในภาพ รวมถึงเกิดความภาคภูมิใจในภูมิปัญญา ของบรรพชน อันจะนำไปสู่การตระหนัก ในคุณค่าตลอดจนร่วมมือกันอนุรักษ์และสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่านี้ให้คงอยู่สืบไป
งานประติมากรรมไทย (Thai Sculpture)
งานประติมากรรมไทยเป็นงานที่เกี่ยวข้องหรือรับใช้ศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติมาแต่ดั้งเดิม จึงมักมีงานอยู่ 2 แบบคือ งานประติมากรรมเกี่ยวกับพระพุทธรูป โดยทั่วไปมักเรียกงานว่าปฏิมากรรม (ซึ่งเป็นงานที่เด่นที่สุด) และงานประติมากรรมตกแต่งอาคารสถานที่ เหตุที่นำเอาพระพุทธรูปมาเป็นหลักในการศึกษาประติมากรรมไทยเพราะเหตุว่า
1. มีความงดงามถึงขั้นสูงสุด (Classic) ตามแบบอุดมคติ
2. มองเห็นความแตกต่างของฝีมือแต่ละสกุลช่างได้ชัดเจน
3. มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
งานปฏิมากรรม
สำหรับงานปฏิมากรรมหรืองานประติมากรรมเกี่ยวกับการสร้างพระพุทธรูปนั้น อาจถือได้ว่าพระพุทธรูปองค์แรกที่สร้างขึ้นในโลกคือพระพุทธรูปแบบ คันธารราฐเป็นฝีมือของช่างชาวกรีกซึ่งสร้างขึ้นที่แคว้น คันธารราฐ” (ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศอัฟกานิสถานและประเทศปากีสถาน) มีลักษณะเป็นแบบตะวันตก คือ เหมือนคนจริงเช่นเส้นพระศก ก็เป็นเส้นผมอย่างคนสามัญ จีวรก็ทำเป็นริ้วเหมือนจีวรจริง ๆ ต่อมาชาติต่าง ๆ ที่นับถือศาสนาพุทธก็นิยมคิดประดิษฐ์พระพุทธรูปกันมากขึ้น และได้ดัดแปลงให้แตกต่างออกไปตามความคิดของตน พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในประเทศไทยสามารถแบ่งลักษณะตามยุคสมัยที่สร้างขึ้นดังนี้
1. สมัยทวารวดี พระพุทธรูปสมัยนี้มีลักษณะที่สำคัญคือ พระเกตุมาลาเป็นต่อมสั้น พระศกเป็นก้นหอยไม่มีไรพระศก พระขนงยาวเหยียด พระพักตร์แบนกว้าง พระโอษฐ์หนา พระหนุป้าน จีวรบางแนบติดกับองค์พระ มีพระหัตถ์และพระบาทใหญ่
2. สมัยศรีวิชัย มีลักษณะที่สำคัญคือ พระพุทธรูปสมัยนี้มีน้อยแต่มีรูปจำลองของพระโพธิ์สัตว์เป็นจำนวนมาก เพราะศาสนาพุทธนิกายมหายานนับถือพระโพธิสัตว์
3. สมัยลพบุรี เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นโดยได้รับอิทธิพลจากชนชาติขอมมีลักษณะของพระเกตุมาลาเป็นต่อมเหมือนสมัยทวารวดีหรืออาจเป็นรูปก้นหอย เป็นรูปคล้ายฝาชีครอบเป็นกระบังคล้ายมงกุฎเทวรูป หรือเป็นรูปดอกบัวมีกลีบรอบ ๆ บ้าง แต่จะมีไรพระศกเสมอ และทำเป็นเส้นใหญ่กว่าสมัยศรีวิชัย พระพักตร์กว้างเป็นเหลี่ยม พระโอษฐ์แบะ พระหนุป้าน ชายสังฆาฎิยาว พระกรรณยาวจนจดพระอังสา พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา
4. สมัยเชียงแสน ถือว่าเป็นการสร้างพระพุทธรูปแบบไทยแท้เป็นสมัยแรก แบ่งออก 2 รุ่นคือ
แบบเชียงแสนรุ่นแรกพระพุทธรูปสมัยนี้ได้รับการยกย่องว่ามีความงามทัดเทียมกับพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย (ซึ่งเป็นสมัยที่ยกย่องว่าสร้างพระพุทธรูปได้สวยงามที่สุด) บางทีเรียกว่าพระสิหิงค์หรือพระสิงห์ พระพุทธรูปสมัยเชียงแสนรุ่นแรกมีลักษณะดังนี้คือนิยมสร้างให้มีพระวรกายอวบอ้วน ,ประทับนั่งแบบขัดสมาธิเพชร,พระหัตถ์มีลักษณะแบบกลมกลึง, พระพักตร์อูมอิ่ม พระหนุเป็นปม
พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์เล็ก, พระอุระนูน, สังฆาฏิสั้นเหนือพระอุระ,พระรัศมีเป็นต่อมกลม เม็ดพระศกเป็นต่อมกลมใหญ่หรือเป็นก้นหอยไม่มีไรพระศก
5. สมัยสุโขทัย ถือว่าเป็นสมัยที่การสร้างพระพุทธรูปได้เจริญถึงขั้นสูงสุด (Classic) ได้มีการแบ่งลักษณะพระพุทธรูปออกเป็น 5 แบบ หรือ 5 หมวด ที่สำคัญคือ
- หมวดใหญ่ มีลักษณะพระพักตร์รูปทรงกลมหรือบางทีก็สร้างคล้ายรูปไข่ พระนลาฏกว้างสมส่วนกับพระปรางค์ พระเกตุมาลาหรือพระรัศมีทำเป็นเปลวสูง พระอังศากว้างดูผึ่งผาย พระอุระนูนเล็กน้อย นิยมนั่งขัดสมาธิราบ
-หมวดพระพุทธชินราช ซึ่งได้สร้างขึ้นในขณะที่ศาสนาพุทธในกรุงสุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองที่สุด และนับว่าเป็นพระพุทธรูปที่สร้างได้สวยงามที่สุดของสมัยสุโขทัย ตัวอย่างเช่น พระพุทธชินราช ที่วัดใหญ่หรือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุพิษณุโลก มีลักษณะพระพักตร์และนลาฏกว้าง รับกับส่วนพระปรางค์ซึ่งดูอิ่มเอิบ ลักษณะยิ้มละไม
6. สมัยอยุธยา แบ่งออกเป็น 2 รุ่น คือ
- แบบอยุธยารุ่นแรก หรือแบบอู่ทอง ได้รับอิทธิพลจากสมัยสุโขทัยและยังรับเอาอิทธิพลศิลปะแบบลพบุรีขอมเข้าไปด้วย พระพุทธรูปมีลักษณะพระโอษฐ์หนาและพระขนงขมวดดูเคร่งขรึม พระหนุป้าน พระเกตุมาลาหรือพระรัศมีมีทั้งเป็นต่อมกลมแบบลพบุรีและเป็นเปลวแบบสุโขทัย เส้นพระศกละเอียดมีไรพระศก
ชายสังฆาฏิยา ขัดสมาธิราบ ฐานเป็นหน้ากระดานแอ่นเป็นร่องเว้าเข้าด้านใน
- แบบอยุธยารุ่นหลัง เนื่องจากมีสงครามติดพันกับพม่ายาวนาน ความประณีตในการสร้างงานศิลปะเกี่ยวกับรูปคนเสื่อมลงลักษณะของพระพุทธรูปจึง เสื่อมลงด้วยแต่การตกแต่งดีขึ้นมากจึงเกิดมีพระทรงเครื่องขึ้นในสมัยนี้ คือมีการตกแต่งพระพุทธรูปยืนด้วยการสวมมงกุฎ และตกแต่งองค์พระด้วยเครื่องแต่งกายคล้ายละครหรือเครื่องทรงกษัตริย์ มีสองแบบคือพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่และพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย ส่วนลักษณะของพระพุทธรูปทั่วไปมักทำพระเกตุมาลาหรือพระรัศมีตามแบบสุโขทัย แต่โดยมากมีไรพระศก และสังฆาฏิใหญ่
7. สมัยรัตนโกสินทร์ ในยุคแรกเช่นในสมัยรัชกาลที่ 1 นำพระพุทธรูปจากหัวเมืองเหนือ มาประดิษฐานในกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการคิดปางพระพุทธรูปเพิ่มขึ้น สมัยรัชกาลที่ 4 สร้างพระพุทธรูปคล้ายคนจริงมากขึ้นเพราะรับอิทธิพลจากตะวันตก ในสมัยรัชกาลที่ 9 พ.ศ.2500 มีการสร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นประธานพุทธมณฑลที่นครปฐม ผู้ออกแบบคือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
งานสถาปัตยกรรมไทย (Architecture)
ลักษณะงานสถาปัตยกรรมของไทยนั้น สามารถแบ่งออกตามวัตถุประสงค์ของการก่อสร้าง วัสดุที่ใช้ในการออกแบบ การตกแต่งรวมทั้งลักษณะการใช้งาน ซึ่งจะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
- สถาปัตยกรรมเกี่ยวกับศาสนา
- สถาปัตยกรรมเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย
สถาปัตยกรรมเกี่ยวกับศาสนา เนื่องจากศาสนาพุทธได้รับการยอมรับให้เป็นศาสนาประจำชาติไทยมาตั้งแต่เดิม ดังนั้นการก่อสร้างให้เป็นสถานที่สำหรับชุมนุมเพื่อประกอบพิธีสำคัญทางศาสนา พร้อมทั้งเป็นสถานที่สำหรับกราบไหว้บูชาของพุทธศาสนิกชนไปด้วย สถาปัตยกรรมที่มีลักษณะเด่นและมีรูปแบบที่ต่อเนื่องมาตลอดจนถึงปัจจุบันคือ สถูปและเจดีย์ซึ่งมีหลักฐานทางศิลปะโบราณวัตถุสถานให้ศึกษาอยู่เกือบทุกสมัยตั้งแต่เริ่มสร้างมา ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ความหมายของสถูปเจดีย์
สถูป หมายถึงกองดินที่ฝังศพหรือกองกูณฑ์ที่มีการเผาศพแล้วขี้เถ้าได้กองสะสมอยู่จนพูนขึ้นมาจากพื้น แล้วมีการสร้างสถาปัตยกรรมครอบทับลงไปอีกชั้นหนึ่งและสิ่งก่อสร้างนั้นเรียกว่า สถูป
เจดีย์ หมายถึงสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้รำลึกถึงทางธรรม หรือพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งสำคัญที่ควรเคารพบูชา เจดีย์มีหลายประเภทดังนี้
1. บริโภคเจดีย์ หมายถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงใช้สอย เช่น บาตร จีวร หรือต้นไม้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ พระพุทธประวัติ เช่น ต้นโพธิ์ ต้นรัง รวมทั้งสถานที่มีทรงประสูติ ตรัสรู้ ประทานปฐมเทศนา ปรินิพพาน และสถานที่ถวายพระเพลิงหรือที่เรียกว่า สังเวชนียสถาน
2. ธาตุเจดีย์ หมายถึงพระอัฐิ พระเกศา พระทนต์ ของพระพุทธเจ้า
3. ธรรมเจดีย์ คือพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
4.อุเทสิกเจดีย์ คือสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่พระพุทธเจ้าและพระศาสนา เช่นโบสถ์ วิหาร ศาลา สถูปต่าง ๆ จะเห็นได้ว่า ความหมายของสถูปอยู่ในหัวข้ออุเทสิกเจดีย์เท่านั้น ซึ่งบางทีก็เรียกว่า พระธาตุ เช่น พระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุหริภุญชัย และมักเรียกรวมว่าสถูปเจดีย์
การแบ่งสถูปเจดีย์ตามลักษณะของสถาปัตยกรรมแบ่งได้ดังนี้
1.แบบลังกา เป็นสถูปที่นำแบบมาจากสถูปแบบแรกในโลก ซึ่งสร้างที่เมืองสัญจิ ประเทศอินเดีย โดยพระเจ้าอโศกมหาราช มีลักษณะรูปทรงครึ่งวงกลมคว่ำอยู่บนฐานทรงกลม ด้านบนมีบัลลังก์เป็นรูปสี่เหลี่ยมหมายถึงที่ประทับของกษัตริย์ ตรงกลางปักฉัตรเป็นวงกลมแบน ๆ 3 ชั้น ต่อมาช่างลังกาได้ดัดแปลงรูปทรงครึ่งวงกลมดังกล่าวเป็นทรงระฆังและรูปทรงนี้ได้แพร่หลายไปยังชาติที่นับถือศาสนาพุทธในทวีปเอเชีย สำหรับประเทศไทยศาสนาพุทธได้เดินทางมาโดยเรือสำเภาขึ้นฝั่งที่ภาคใต้ของประเทศไทย และตั้งมั่นที่เมืองนครศรีธรรมราชในสมัยทวารวดี ได้มีการสร้างพระบรมธาตุขึ้นตามรูปแบบของสถูปแบบลังกา แต่เพิ่มยอดสูงกว่า ส่วนทางพม่าได้มีการสร้างพระธาตุพุกามขึ้นที่เมืองพุกาม มีรูปแบบดัดแปลงจากสถูปแบบลังกา คือ เน้นให้มีฐานสูงขึ้นทำเป็นรูปแปดเหลี่ยมและมีฉัตรที่ปลายยอด
2.แบบศรีวิชัย สถูปสมัยศรีวิชัยนี้สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากชวาหรืออาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งรวมอาณาเขตชวา สุมาตรา และแหลมมลายูเข้าไปด้วย อาณาจักรศรีวิชัยนี้เดิมได้รับอิทธิพลทางด้านศาสนาพุทธมาจากลังกานั่นเอง ดังนั้นผลงานศิลปกรรมจึงมีอิทธิพลของอินเดียและลังกาปนอยู่มาก สถูปที่สร้างในสมัยนี้คือ พระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีลักษณะเป็นตัวสถูปองค์ใหญ่อยู่กลาง มีสถูปองค์เล็ก ๆ ล้อมรอบเป็นชั้น ๆ ทำฐานสูง บางทีเรียกว่าสถูปทรงมณฑป
3.แบบเชียงแสน หรือล้านนา ในสมัยเชียงแสนหรือล้านนานั้น ได้นำเอาสถูปทรงลังกามาดัดแปลงให้เป็นรูปแบบของตนเองคือ ทำให้มีฐานสูงและทำเป็นรูปแปดเหลี่ยมย่อส่วนเล็กลงเรื่อย ๆ ส่วนองค์ระฆังจะมีทรงกลมเล็กกว่าฐาน มีฉัตรตรงปลายยอด เช่น พระบรมธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ และพระบรมธาตุหริภุญไชย จังหวัดลำพูนเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสถูปที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย เช่น พระเจดีย์เจ็ดยอด ที่วัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่ สร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราช ตามแบบพุทธคยาในอินเดีย เจดีย์พระนางจามเทวีที่วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน เป็นเจดีย์แบบหริภุญไชยหรือก่อนล้านนาที่ได้รับอิทธิพลจากสมัยทวารวดี นอกจากนี้ยังมีเจดีย์แบบที่เรียกว่าทรงปราสาท เช่น วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ วัดเชียงมั่น เชียงใหม่ เป็นต้น
4.แบบโคตรบูรณ์ เป็นรูปแบบของสถูปที่สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรโคตรบูรณ์ ซึ่งนิยมสร้างในเขตประเทศลาว บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงทั้งสองฝั่ง มีลักษณะฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมมีซุ้มโดยรอบและด้านบนตัวองค์ระฆังเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีลักษณะป่องตรงกลางเป็นกระเปาะและเรียวไปหาปลายยอดคล้ายรูปดอกบัวตูมมีฉัตรที่ปลายยอด บางทีเรียกว่าแบบดอกบัวเหลี่ยม เช่น พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม เป็นต้น
5.แบบสุโขทัย ในสมัยสุโขทัยมีสถูปอยู่หลายแบบ เนื่องจากได้รับอิทธิพลของศิลปะจากแบบลังกาและขอม รวมทั้งได้ดัดแปลงของแบบตนเองขึ้นอีก จึงมีสถูปถึง 3 แบบคือ
- แบบลพบุรี เป็นสถูปที่ทำเป็นพระปรางค์แบบขอมได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบลพบุรี แต่ดัดแปลงให้มีลักษณะผอมสูงกว่าและมีซุ้มที่ทำให้ติดกับองค์ปรางค์ไม่ยื่นออกมา เช่น วัดศรีสวาย
- แบบสุโขทัย เป็นสถูปทรงสูงมีฐานสี่เหลี่ยม 3 ชั้นย่อมุมและตอนบนสุดทำเป็นทรงพุ่มคล้ายดอกบัวตูมหรือพุ่มข้าวบิณฑ์ บางที่เรียกว่าทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เช่น วัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดมหาธาตุสุโขทัย และสถูปวัดพระธาตุ จังหวัดกำแพงเพชรเป็นต้น
6. แบบลพบุรี เป็นศิลปะที่สร้างขึ้นโดยชนชาติขอม ซึ่งแต่เดิมนับถือศาสนาพราหมณ์และนิยมสร้างพระปรางค์ขึ้นโดยให้มีฐานสูงและ มีองค์พระปรางค์อยู่ชั้นบนมีซุ้มประตูทางเข้าทั้ง 4 ทิศ และตรงกลางภายในปรางค์เป็นห้องโถงเพื่อประดิษฐานเทวรูป ต่อมามีกษัตริย์ขอมบางพระองค์เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธก็มีการสร้างพระ ปรางค์ให้มีฐานต่ำลงมาเพื่อใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปแทนและรูปแบบการ สร้างพระปรางค์ได้แพร่หลายไปสู่อาณาจักรอื่น ๆ เช่น สุโขทัย อู่ทองและอยุธยา ที่นิยมเรียกกันว่า ปราสาทหิน เช่น ปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทหินเขาพระวิหาร
7. แบบอยุธยา อันที่จริงแล้วการสร้างงานศิลปกรรมของสมัยอยุธยานั้นเริ่มต้นจากสมัยอู่ทองก่อนที่จะกลายเป็นสมัยอยุธยา ในสมัยเริ่มต้นสถูปโดยมากนิยมสร้างแบบพระปรางค์ตามอิทธิพลศิลปะแบบลพบุรีแต่ดัดแปลงให้มีองค์ปรางค์สูงขึ้นมีย่อมุมมากขึ้น เช่นพระปรางค์วัดราชบูรณะ มักสร้างเป็นปรางค์ห้ายอด คือมีองค์ใหญ่อยู่กลาง 1 องค์ องค์เล็กล้อมรอบ 4 องค์ ต่อมารูปแบบการสร้างสถูปแบบลังกาได้แพร่หลายมาจากสุโขทัยและมีการดัดแปลงเพียงแต่เพิ่มมุขเข้าประดับองค์เจดีย์ เช่นพระเจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์ จนกระทั่งได้พัฒนาให้มีรูปแบบเป็นทรงสี่เหลี่ยมและมีการย่อมุมของฐานจนเรียกว่าแบบย่อมุมไม้สิบสอง เช่นเจดีย์ศรีสุริโยทัย ซึ่งถือเป็นแบบของอยุธยาโดยเฉพาะ
8.แบบรัตนโกสินทร์ เมื่อเริ่มมีการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ นั้นได้มีการนำเอาช่างมาจากกรุงศรีอยุธยาแทบทั้งสิ้นจึงทำให้รูปแบบการก่อสร้างจำลองมาจากอยุธยาเป็นส่วนมากมีการดัดแปลงเพียงเล็กน้อย เช่นการก่อสร้างสถูปแบบพระปรางค์ทำให้สูงชะลูดขึ้นไปอีกเน้นลวดลายที่ฐาน และนำเอากระเบื้องเซรามิคส์มาประดับองค์เจดีย์ เช่นพระปรางค์วัดอรุณ การก่อสร้างสถูปทรงลังกาในแบบอยุธยา และยังมีการสร้างเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง รวมทั้งมีการนำเอาพระปรางค์มาประดับยอดปราสาทและมีการสร้างมณฑปบนสถานที่สำคัญ เช่น รอยพระพุทธบาท เป็นต้น
ส่วนสมัยปัจจุบันรูปแบบการสร้างสถูปค่อนข้างจะปนเปกันไปหารูปแบบที่เป็นสกุลช่องไม่ค่อยได้ ประกอบกับมีการเน้นหนักทางด้านการก่อสร้าง อาคารขึ้นมากว่าจึงทำให้งานด้านการสร้างสถูปเจดีย์ต่าง ๆ ด้อยลงไป      
ประณีตศิลป์ไทย
            ชาติไทย เป็นชาติที่มีศิลปะวัฒนธรรม และประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปรากฎหลักฐาน โบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่เป็นงานประณีตศิลป์จำนวนมาก ที่ผ่านการคิดค้น สร้างสรรค์ ประดิษฐ์ ขึ้นมา ด้วยความเพียรพยายาม ประณีต วิจิตร บรรจง สืบต่อกันมาเป็นเวลานานหลายร้อยปี หรืออาจถึงพันปี งานที่จัดว่าเป็นประณีต ศิลป์ของไทย ที่มีลักษณะเฉพาะตัว ได้แก่งานศิลปะดังต่อไปนี้

            1. เครื่องเงินไทย หมายถึง เครื่องเงินชนิดที่ทำเป็นเครื่องรูปพรรณ เครื่องถม และเครื่องลงยาสีที่ทำในประเทศไทย ทำด้วยโลหะเงินมาตรฐาน ให้มีโลหะอื่น ๆ เจือปนได้ไม่เกิน ร้อยละ 7.5 ของ น้ำหนัก ส่วนประกอบของเครื่องเงินไทย  ต้องแข็งแรง ทนทาน มีลวดลายที่ชัดเจน เรียบร้อย     ในประเทศไทยมีหลักฐานของการใช้โลหะเงินมาตั้งแต่ ก่อนยุคทวาราวดี เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ในแต่ละท้องถิ่น ภาคใต้
 ภาคกลาง และภาคเหนือ โดยเฉพาะ เครื่องเงินของล้านนา นับว่ามีชื่อเสียงมาก กระบวนการผลิตเครื่องเงิน มีขั้นตอนสำคัญ 3 ขั้นตอน คือ
     1. การหลอม เป็นขั้นตอนแรกในการผลิต เป็นการเตรียมวัตถุดิบ เพื่อใช้ทำงานขั้นต่อไป
     2. การขึ้นรูป เป็นการเตรียมภาชนะให้เป็นรูปแบบตามต้องการ โดยทั่วไป มี 6 แบบ คือ การขึ้นรูปด้วยค้อน ด้วยการตัดต่อ ด้วยการหล่อ ด้วยการชักลวด ด้วยการสาน และด้วยการบุ
     3. การตกแต่งเครื่องเงิน เป็นการทำงานขั้นสุดท้าย เพื่อให้เกิดความสวยงาม วิธีการตกแต่งเครื่องเงินโดยทั่วไป มี 7 ลักษณะ   คือ การสลักดุน  การเพลา  การแกะลายเบา  การถมยาดำ  การถมยาทอง หรือตะทอง การลงยาสี และการประดับหรือฝังอัญมณี    ลวดลายที่ปรากฎอยู่ในเครื่องเงินไทย มักเป้นลวดลายธรรมชาติ รูปเทวดา รูปสัตว์หิมพานต์ รูปตัวละครในวรรณคดี รูปสัตว์  12 ราศี และลวดลายไทย
            2. เครื่องทอง เป็นสินแร่ที่มีราคา และมนุษย์นิยมนำมาใช้เป็นวัตถุในการแลกเปลี่ยน ความสำคัญของทองเกิดจาก  การที่มีค่าสูงไม่เปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยต่าง ๆ มากนัก มีความสวยงาม มีสีเหลืองสว่างสดใสปละมีประกายสุกปลั่ง  เสมอ ไม่เป็นสนิม มีความอ่อนเหนียวจนสามารถนำมาตีเป็นแผ่นบางมาก ๆ ขนาด 0.000005 นิ้วได้ และเป็นโลหะที่  ไม่ละลายในกรดชนิดใด แต่จะละลายได้อย่างช้า ๆ ในสารละลายผสมระหว่างกรดดินประสิวกับกรดเกลือ     กระบวนการในการทำเครื่องทอง ในอดีต มีหลายวิธีแตกต่างกันออกไป ตามแต่เทคนิค หรือวัสดุ อุปกรณ์ที่นำมาใช้ ดังนี้  คือ การหุ้ม  การปิด(การลงรักปิดทอง) การบุ  การดุน  การหล่อ  การสลัก  การาไหล่หรือกะไหล่ การคร่ำ เป็นต้น เครื่องทอง  ที่นิยมทำกันมัก เป็นวัตถุเกี่ยวกับของสำคัญ และมีค่า เช่น เครื่องราชูปโภค เครื่องยศ เครื่องใช้สอย เครื่องประดับ  เครื่องพุทธบูชา เครื่องประกอบ พิธีกรรมทางศาสนา พระพุทธรูป พระพิมพ์ แผ่นทองจารึก(สุพรรณบัฏ) ฯลฯ

            3. เครื่องถม จัดเป็นงานประณีตศิลป์ชนิดหนึ่งที่มีมาแต่โบราณ และสืบทอดต่อมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน พจนานุกรมฉบับ  ราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของเครื่องถมไว้ว่า " เรียกภาชนะหรือเครื่องประดับที่ทำโดยใช้ผงยาดำผสมน้ำประสานทอง ถมลงบนลวดลายที่แกะสลักบนภาชนะ หรือเครื่องประดับนั้น แล้วขัดผิวให้เงางามว่า เครื่องถม หรือ ถม เช่น ถมนคร ถมทอง  ถมเงิน..." เครื่องถม มีหลายประเภท จำแนกได้ดังนี้
            1. ถมดำ หรือ ถมเงิน เป็นการทำเครื่องถมที่เก่าที่สุด ทำโดยการแกะสลักลวดลาย ลงบนพื้นผิวภาชนะเครื่องเงิน จนเป็นร่องลึก แล้วลงยาถมดำลงไปในร่องลึกนั้นจนเต็ม
            2. ถมตะทอง โดยการใช้ "ทองเปียก" เป็นแผ่นทองบดละเอียดผสมปรอทบริสุทธิ์แล้วนำมาถมลายที่สลักไว้
            3. ถมปัด ทำจากภาชนะที่เป็นทองแดงและลงน้ำยาสีต่าง ๆ
            4. เครื่องมุก การประดับมุก เป็นงานประณีตศิลป์ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ ในการตกแต่งวัสดุให้สวยงามของคนไทย  มาแต่โบราณ โดยใช้เปลือกหอยมุก ซึ่งมีทั้งหอยมุกทะเล และหอยมุกน้ำจืด นำมาฉลุเป็นลวดลายชิ้นเล็ก ๆ ประดับลงไป บนภาชนะ บานประตู หน้าต่าง ตู้ ฯลฯ โดยใช้รักสีดำ เป็นตัวเชื่อมให้ชิ้นมุก เกาะติดฝังลงไปกับภาชนะ หรือวัสดุ สีขาวแกม  ชมพูและความแวววาวของหอยมุก จะตัดกับสีดำของรัก ทำให้ภาชนะ เครื่องใช้ หรือวัตถุชิ้นนั้น ๆ สวยงามมาก ภาชนะที่ นิยมประดับมุก ได้แก่ พาน กล่อง หีบ เครื่องใช้สำหรับพระสงฆ์ ถาด ฯลฯ
            5. ไม้แกะสลัก ไม้ที่นิยมนำมาแกะสลักมากที่สุด คือ ไม้สัก ไม้ตะเคียน ไม้ชิงชัน ไม้ประดู่ ไม้มะค่า ชนชาติไทยมีฝีมือ ทางด้านการแกะสลักไม้มาแต่โบราณ และมีศิลปวัตถุที่แกะสลักจากไม้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากในภูมิภาคแถบนี้ มีไม้สัก และไม้อื่นๆ ที่นำมาแกะสลักได้จำนวนมาก แต่ปัจจุบันได้ลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้หาได้ยากขึ้น ไม้แกะสลักมักนำมาทำเป็น บานประตู หน้าต่าง พระพุทธรูป ลวดลายประดับตกแต่งอาคาร สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ การแกะสลักไม้ มีขั้นตอนที่สำคัญ ๆ อยู่ 3 ขั้นตอน คือ การออกแบบลวดลาย การแกะสลักลาย และการตกแต่ง
            6. เครื่องปั้นดินเผาไทย  มนุษย์รู้จักทำเครื่องปั้นดินเผา มาตั้งแต่สมัยหินกลาง ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อ 10,000-7,000 ปี มาแล้ว และทำกันมาจนถึงปัจจุบัน ในทุกภูมิภาคของโลก อาจกล่าวได้ว่า ชาติใด ๆ ก็รู้จักการทำเครื่องปั้นดินเผาทั้งสิ้น ใน ประเทศไทย มีการทำเครื่องปั้นดินเผาอยู่ทุกภูมิภาค ในสมัยดั้งเดิมเป็นการเผาดินดิบ ต่อมามีการเคลือบด้วยน้ำยาเคลือบ และ พัฒนามาสู่การเขียนลวดลายลักษณะต่าง ๆ จากสีเดียว (เอกรงค์) มาเป็นหลายสี (พหุรงค์) ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งใช้สี
 5 สี เรียกว่า ลายเบญจรงค์ และต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ มีการเขียนลายทอง ที่เรียกว่าเบญจรงค์ลายน้ำทอง
            7. งาช้างแกะสลัก เป็นงานประณีตศิลป์ที่มีความละเอียด และต้องใช้ฝีมือที่เชี่ยวชาญเป็นอย่างยิ่ง โดยปกติงาช้างเป็นของมีค่า ซึ่งต้องเก็บรักษาไว้อย่างดี เดิมมีสีขาวนวล เมื่อนานไป อาจเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้นถึงน้ำตาล และมีรอยแตกราน อย่างที่เรียกว่า แตกลายงา งาช้างสลักนิยมนำมาทำเป็น พระพุทธรูป กล่อง หรือตลับ ตราสัญลักษณ์ ตุ๊กตา ด้ามหรือปลอกมีด ฯลฯ
            8. เรือพระราชพิธี เป็นงานประณีตศิลป์อีกประเภทหนึ่งของวัฒนธรรมไทย ซึ่งผูกพันกันแม่น้ำมาตั้งแต่โบราณกาลโดยใช้เรือ  ชนิดต่าง ๆ เรือพระราชพิธี มักใช้ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งเป็นริ้วขบวนเรือที่จัดขึ้นในการที่พระเจ้าอยู่หัว เสด็จ พระราชดำเนินไปในการต่าง ๆ ทั้งเป็นการส่วนพระองค์ และพระราชพิธี ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย การจัดขบวนพยุหยาตรา ทางชลมารคนี้ กล่าวได้ว่า มีวิวัฒนาการมาจากการจัดกระบวนทัพเรือ ในยามว่างจึงมีการจัดขบวนทัพเพื่อฝึกซ้อม มีการตกแต่ง
 เรืออย่างสวยงาม และมีการประโคมดนตรี ไปในแระบวนเพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนานอีกด้วย ถือเป็นการแสดงออกถึงความ เป็นเอกลักษณ์ ทางด้านวัฒนธรรมประเพณีอย่างหนึ่งของชาติไทยและพระราชวงศ์ ซึ่งมีอารยธรรมสูงส่งมาแต่โบราณกาล