บทที่ 7 บทสรุป

บทสรุป คุณค่าของสุนทรียศาสตร์

 

สุนทรียศาสตร์เป็นสาขาหนึ่งของคุณวิทยา เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องความงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ความงามในศิลปะ และยังรวมไปถึงเรื่องรสนิยม และมาตรฐานทางคุณค่าสำหรับตัดสินศิลปะด้วย นอกจากนี้ สุนทรียศาสตร์ว่าด้วยทฤษฎีศิลปะ และท่าทีหรือความรู้สึกนึกคิดที่มนุษย์มีต่อศิลปะด้วย สุนทรียศาสตร์เป็นคำในภาษาสันสกฤต แปลว่า วิชาที่ว่าด้วยเรื่องแห่งความงามหรือสิ่งที่สวยงาม ภาษาอังกฤษใช้คำว่า AESTHETIC มาจากภาษเยอรมันว่า AESTHETIKOS หมายถึง Perception (เห็นได้ เข้าใจได้) หมายถึงศาสตร์ที่ว่าด้วยความรู้สึกอันมีความงามเป็นพื้นฐาน การศึกษาฝึกฝนในเรื่องสุนทรียะไม่ใช่ของง่าย เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล เนื่องจากสุนทรียะเป็นศาสตร์หนึ่งของวิชาปรัชญาโดยอยู่ในแขนงอภิปรัชญา แต่ถ้าได้ฝึกฝนรสนิยมมาบ้างก็เห็นแววความลึกซึ้งยิ่งกว่าคนธรรมดาเห็น ยิ่งมีรสนิยมสูงเท่าใดก็ยิ่งจะเห็นอะไร ๆ มากขึ้น นี่แหละคือ สุนทรียะซึ่งมีเนื้อหาสาระที่น่าศึกษา คือ  ความหมาย อาจจำแนกออกได้ ๒ คำ สุนทรียะ หมายถึง สิ่งที่เกี่ยวกับความนิยม ความงาม สุนทรียภาพ หมายถึง ความรู้สึกถึงคุณค่าของสิ่งที่งามและความเป็นระเบียบของเสียง และถ้อย คำที่ไพเราะ

สุนทรียศาสตร์ จึงหมายถึง วิชาที่ว่าด้วยความนิยม ความงาม จะเห็นได้ว่า สุนทรียะ สุนทรียภาพ และสุนทรียศาสตร์ เป็นคำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน เป็นปรัชญาที่ว่าด้วยความงามที่เกี่ยวกับความรู้สึกละเอียดอ่อนในความงาม ความงามนี้อยู่ในธรรมชาติและในงานที่มนุษย์สร้างขึ้น เราอาจมองเห็นความงามของวัตถุสิ่งเดียวกันไปคนละแง่ก็ได้ สุนทรียศาสตร์เป็นปรัชญาศิลปะ ซึ่งมีหน้าที่หลักคือค้นหาธรรมชาติของความงาม

 

ประสบการณ์ทางสุนทรียะ

สุนทรียะเป็นเรื่องของการเรียนรู้ การสร้างประสบการณ์โดยอาศัยความรู้ประกอบซึ่งมีขั้นตอนที่ควรคำนึงถึง คือ


1. ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องมีความศรัทธาต่องานศิลปะ ความตั้งใจหรือความศรัทธามีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเข้าถึงงานศิลปะ และในทำนองเดียวกันความตั้งใจที่ไร้ศรัทธาเป็นการปิดกันสุนทรียะของศิลปะตั้งแต่แรก


2. ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยการรับรู้ การรับรู้เป็นความรู้ที่จะรู้ว่า สิ่งนั้น ๆ คืออะไร คุณภาพดีไหม และมีความเกี่ยวพันกันอย่างไร เป็นเรื่องของความรู้ไม่ใช่เรื่องของความจำหรือจินตนาการ การรับรู้เป็นการรวบรวมความรู้สึกทั้งภายนอกและภายในที่มีผลต่อสิ่งเร้า แล้วเอามาสร้างเป็นความคิดรวบยอดต่องานศิลปะนั้น ๆ ซึ่งสามรถแยกออกเป็นขั้นตอนได้ว่าเป็นความรู้สึกการรับรู้และการหยั่งรู้เป็นการสร้างมโนภาพ


3. ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยความกินใจ หรือประทับใจในการสร้างประสบการณ์ทางสุนทรียะนั้น อารมณ์ที่กระทบต่องานศิลปะสามรถแยกออกเป็น ๒ ขั้นตอนด้วยกัน คือ สภาพของจิตที่เปลี่ยนไปกับความรู้สึกที่สนองต่อจิต เกิดขึ้นตามลำดับต่อมา ความกินใจต่อเหตุการณ์และเสียงที่ได้ยิน ทั้งเหตุการณ์และเสียงที่กินใจจะจารึกจดจำไว้ในสมอง ถ้ามีโอกาสหวนกลับมาอีก ความกินใจที่เคยจดจำไว้จะปรากฏขึ้นในความรู้สึกอีก

 

4. ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยความรู้ การเรียนรู้ของคนต้องอาศัยประสบการณ์ และสุนทรียะเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจเป็นประสบการณ์ที่สามรถแยกแยะหรือวิเคราะห์ การนำมาประติดประต่อ หรือการสังเคราะห์ การสรุปรวบยอด การจัดหมวดหมู่ หรือแม้แต่การประเมินผล สิ่งเหล่านี้อาศัยประสบการณ์ความรู้ความเข้าใจเป็นตัวสำคัญ

 

5. ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยความเข้าใจ วัฒนธรรมที่เป็นองค์ประกอบของศิลปะนั้น ๆ เพราะศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม การที่เราเข้าใจวัฒนธรรมเป็นผลให้เราเข้าใจศิลปะอีกโสดหนึ่งด้วย เพราะศิลปะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งย่อมเหมาะกับชนกลุ่มนั้น

จุดมุ่งหมายของสุนทรียศาสตร์เป็นแต่เพียงภาคทฤษฎีเท่านั้น มิใช่ภาคปฏิบัติและจุดมุ่งหมายของสุนทรียศาสตร์ ก็เป็นแต่เพียงการสอนเกี่ยวกับหลักการต่าง ๆ ของความงาม มิใช่ต้องการเพื่อที่จะสร้างพวกเราให้เป็นนักวาดเขียนหรือนักดนตรี เพราะว่ามีข้อแตกต่างกันระหว่างความรู้สึกเรื่องหลักการแห่งความงามและหลักฝึกฝนภาคปฏิบัติ ในการสร้างงานศิลปะ การสร้างงานศิลปะนั้นเรียกหาการฝึกฝนบางประการ และขึ้นอยู่กับสติปัญญาภายในของแต่ละบุคคล การศึกษาสุนทรียศาสตร์มิได้รับประกันว่าจะต้องให้การฝึกหัดและรูปแบบเก่าแก่พวกเรา ดังนั้นโดยจุดมุ่งหมายแล้วสุนทรียศาสตร์จึงเป็นเพียงภาคทฤษฎีเท่านั้น แต่ถ้าบุคคลมีรูปแบบบางอย่างและฝึกหัดภาคปฏิบัติอยู่บ้างแล้ว การศึกษาสุนทรียศาสตร์ก็จะช่วยให้บุคคลเหล่านั้นได้พัฒนารูปแบบและการปฏิบัติจริงให้สำเร็จผลมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ประสิทธิภาพแห่งศิลปะภาคปฏิบัติจึงไม่ใช่ผลโดยตรงจากการศึกษาสุนทรียศาสตร์ แต่การศึกษาสุนทรียศาสตร์อาจมีผลโดยทางอ้อมต่อความพยายามของมนุษย์ในการสร้างงานศิลป์


คุณลักษณะแห่งประสบการณ์ทางสุนทรียะ

ประสบการณ์ทางสุนทรียะนั้นมีคุณลักษณะ ดังต่อไปนี้

1. สภาวะปกติทางผัสสะ สุนทรียศาสตร์ มีสภาวะพื้นฐานทางผัสสะ ซึ่งขึ้นอยู่กับความรู้สึกทางผัสสะที่คนเรารับรู้โดยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการรับรู้ความรู้สึกทางผัสสะอย่างแจ่มแจ้งนั้น ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของเราจะต้องสมบูรณ์และพร้อมเสมอ เราจะต้องสามารถที่จะแยกแยะความแตกต่างของสี อันหนึ่งจากสีอื่น ๆ ได้ ดนตรีชนิดหนึ่งจากดนตรีชนิดอื่นได้ การรับรู้ทางสุนทรียะของเราทั้งหมดขึ้นอยู่กับความสามรถของคนที่จะยอมรับความแตกต่างเช่นนั้น สีที่เราเห็นและเสียงที่เราได้ยิน ถ้าเราไม่สามารถที่จะสร้างหรือยอมรับประสบการณ์เช่นนั้นได้ ประสบการณ์สุนทรียะจะเป็นไปไม่ได้เลย นั่นเท่ากับเป็นการตอบคำว่าทำไมคนตาบอดจึงไม่รับรู้ภาพเขียนและคนหูหนวกจึงไม่รับรู้ดนตรี

 

2. การ ไม่เห็นแก่ประโยชน์ การไม่เห็นแก่ประโยชน์เป็นคุณลักษณะอันสำคัญของประสบการณ์สุนทรียะ ศิลปินหรือผู้ดูศิลปะนั้นจะต้องเป็นอิสระจากความต้องการใด ๆ ในการที่จะได้รับความก้าวหน้าทางภาคปฏิบัติจากประสบการณ์ทางสุนทรียะ เขาจะต้องไม่แสวงหาชื่อเสียงหรือเงินทองจากแนวทางแห่งประสบการณ์สุนทรียะ เพื่อประสบการณ์สุนทรียะเองนั้นก็หมายความว่าเขามีความพอในภายใน ในประสบการณ์สุนทรียะเองและความพอใจภายในนี้เป็นเกณฑ์อันเดียวของประสบการณ์ สุนทรียะ ดังนั้นประสบการณ์สุนทรียะนั้นจึงเป็นคุณค่าภายใน มิได้เป็นคุณค่าแห่งเครื่องมือปฏิบัติ ตัวอย่างเช่น มันเป็นสิ่งเป็นไปไม่ได้สำหรับนักดนตรีที่จะร้องเพื่อความพอใจและความสุขที่ เขาจะได้รับและไม่เป็นการจำเป็นเลยที่เขาจะต้องการร้องเพื่อความสุขของคน อื่นและเพื่อเงิน

 

3. การไม่ยึดมั่นถือมั่น การไม่ยึดมั่นถือมั่นจากข้อวิตกกังวลประจำวันนั้น เป็นเงื่อนไขสำคัญทางประสบการณ์สุนทรียะ เพราะว่าประสบการณ์ทางสุนทรียะนั้น คนเราถูกหวังที่จะยอมรับความดูดซึมในประสบการณ์สุนทรียะด้วยตัวเขาเอง แต่การดูดซึมในประสบการณ์สุนทรียะทั้งหมดนั้นไม่สามารถจะเป็นไปได้ ถ้าจิตใจของเรานั้นมีทุกข์ด้วยความกังวลในชีวิตประจำวัน ดังนั้นประสบการณ์สุนทรียะจึงต้องเป็นอิสระจากสิ่งกีดขวางใด ๆ และจากความกังวลใด ๆ ทั้งสิ้น

 

4. การอยู่ในความรู้สึก เมื่อเราดูละคร ใจของผู้ดูละครนั้นได้ปลีกตัวออกไปจากความกังวลส่วนตัวของตนเองและเข้าร่วมกับใจของผู้แสดงบางคนในละครนั้น ผลก็คือ ผู้ดูนั้นยอมรับประสบการณ์ทั้งหมดของผู้แสดง ประหนึ่งว่าตัวเขาเป็นผู้แสดงในละครนั้น นี้เรียกว่าการอยู่ในอารมณ์หรือการณ์มีอารมณ์ร่วม

 

5. การแยกความจริงทางจิตวิทยา ผู้ดูละครนั้นต้องการทราบความจริงว่าสิ่งที่เราเห็นอยู่ในละครเป็นเพียงการสมมติขึ้นไม่ใช่ความจริง ดังนั้น เราจะต้องไม่พยายามที่จะสับเปลี่ยนประสบการณ์ที่แท้จริงแห่งตัวเราเอง ประสบการณ์ของผู้แสดงในละครนั้น ถ้าเราสับเปลี่ยนประสบการณ์ที่แท้จริงกับประสบการณ์ของผู้แสดงในละครแล้ว ใจของเราจะเต็มไปด้วยความจำในอดีต ความกังวลและความห่วงใย เป็นต้น ผลก็คือว่าเราจะไม่สมารถที่จะสนุกสนานกับละครเลย

 

6. ประสบการณ์สุนทรียะนั้น สามารถแบ่งสันปันส่วนให้กับคนอื่น ๆ ได้ คุณค่าของประสบการณ์สุนทรียะนั้นจะไม่ลดลงเลย ประสบการณ์สุนทรียะนั้นจะคงอยู่อย่างมั่นคงหรือจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำไป นี้เป็นคุณลักษณะที่สำคัญของประสบการณ์สุนทรียะและเป็นกรตอบคำถามว่าทำไมประสบการณ์สุนทรียะจึงถือว่าเป็นคุณค่าภายใน

 

7. ประสบการณ์สุนทรียะจะต้องเป็นอิสระจากความรู้สึกแห่งการเป็นเจ้าของ หมายความว่า ถ้าบุคคลสนุกสนานเพลิดเพลินกับดนตรี เฉพาะที่ขับร้องโดยธิดาของตนเอง หรือเล่นด้วยดนตรีของตนเองแล้วความสนุกสนานเพลิดเพลินนั้นไม่ถือว่าเป็นประสบการณ์สุนทรียะที่แท้จริง เพราะมันเป็นการแสดงถึงความพอใจของตนต่อธิดาหรือเครื่องดนตรีของตนเท่านั้น แต่มิได้แสดงถึงความพอใจต่อดนตรีเลย

 

8. ความแตกต่างระหว่างความคิดทางตรรกวิทยาและประสบการณ์สุนทรียะสามรถอธิบายได้ดังนี้ ความคิดทางตรรกวิทยา มีวิธีการที่เป็นระบบ มีลำดับขั้นตอน วิธีการนี้เกี่ยวข้องถึงเฉพาะแนวความคิดของคนเราเท่านั้น แต่มิได้เกี่ยวข้องถึงลักษณะอื่น ๆ เช่น ความรู้สึก ความประสงค์ ในวิธีการอันนี้ เรารวบรวมส่วนต่าง ๆ หรือขั้นตอนต่าง ๆ ทั้งหมดจากนั้นก็เข้าสู่การสรุป แต่ประสบการณ์สุนทรียะนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทันทีและเป็นไปเอง ไม่ถูกบังคับและเป็นอิสระจากวิธีการคิดที่กระท่อนกระแท่น ประสบการณ์สุนทรียะนั้นมิได้เกี่ยวข้องถึงเฉพาะความคิดเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องถึงการรับรู้ผัสสะทุกส่วน เมื่อเรากล่าวว่าภาพเขียนนั้นสวยงาม มันไม่ได้หมายถึงข้อสรุปทางตรรกวิทยาที่พวกเราได้รับหลังจากการตรวจสอบส่วนแต่ละส่วนแล้ว แต่หมายถึง พวกเรามองดูภาพเขียนโดยส่วนรวมและยอมรับมันในฐานะที่เป็นส่วนรวม ดังนั้นประสบการณ์สุนทรียะ จิตใจของมนุษย์มิได้เคลื่อนจากส่วนย่อยไปสู่ส่วนรวม แต่มันเริ่มด้วยส่วนรวมและเข้าถึงส่วนรวมในฐานะที่เป็นส่วนรวมทั้งหมด

ในประสบการณ์สุนทรียะนั้น มีองค์ประกอบต่าง ๆ ที่รวมอยู่ดังต่อไปนี้

 


1. ความรู้สึกทางประสาทสัมผัส เราได้รับความรู้สึกทางประสาทสัมผัสของเสียงและแสง โดยทางหูและทางตา

2. อารมณ์ อารมณ์ที่เป็นสุข หรืออารมณ์เศร้าจะมาสู่เราได้โดยวิธีการทางประสาทสัมผัส เช่นดนตรี เสียงที่อ่อนนุ่มและยาวนานจะสร้างความรู้สึกที่เศร้าแก่ผู้ฟัง

 

3. ความหมาย ในบางครั้ง ความหมายที่เด่นชัดจะมาสู่เราได้โดยทางเสียง หรือคำ นี้เป็นความจริงและถูกต้องทางวรรณคดี เพราะในวรรณคดีนั้น คำเป็นสื่อแห่งความหมายมาสู่เรา งานทางศิลปะนั้นเปลี่ยนแปลงได้บนพื้นฐานแห่งความหมายที่สื่อมาสู่เรา

4. ความ รู้สึก ประสบการณ์ทางสุนทรียะนั้นมิใช่สิ่งที่แห้งผาก แต่เป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยความรู้สึก ในกรรีของภาพเขียนลอกแบบธรรมชาติ เราได้ประสบการณ์แห่งความรู้สึกที่เหมือนกัน เช่นเดียวกับที่เราได้ประสบการณ์เมื่อเราเห็นวัตถุที่แท้จริงที่ถูกลอกแบบ นั้น ตัวอย่างเช่น คนรักม้าจะได้รับความรู้สึกเป็นสุขเมื่อเขาได้เห็นภาพเขียนของม้าและความ รู้สึกเป็นสุขนี้สามรถเทียบได้กับความรู้สึกเป็นสุขที่เขาเห็นม้าที่แท้จริง

5. ตัวบุคคล ประการสุดท้าย ตัวของบุคคลเองกลายเป็นผู้ชี้ขาดการรับรู้ประสบการณ์สุนทรียะ และเริ่มเข้าร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสิ่งสุนทรียะนั้น แต่การเข้าร่วมนั้น ตัวบุคคลไม่รู้เลยว่าตัวเองกำลังเข้าร่วมกับสิ่งสุนทรียะนั้น

 

สรุป

การที่ผู้สนใจงานศิลปะได้เรียนรู้เทียบเคียงองค์ประกอบของศิลปะแขนงต่าง ๆ ได้จะทำให้เกิดความเข้าใจศิลปะนั้นได้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะศิลปะที่เป็นนามธรรมและไม่มีรูปร่างรูปทรง เมื่อได้คุ้นเคยและมีความเข้าใจในงานทัศนศิลป์จะทำให้เกิดจินตนาการได้โดยง่ายและไม่มีขีดจำกัด อย่างเช่นการได้ฟังเพลงที่ผู้ประพันธ์ต้องแสดงบรรยากาศของท้องทุ่ง ผู้ฟังก็สามารถจินตนาการนึกภาพในใจถึงท้องทุ่งได้ไม่จำกัด อาจจะเป็นการประทับใจจากการได้เห็นท้องทุ่งที่สวยงามด้วยตัวเอง หรือ อาจจะเป็นท้องทุ่งจากภาพประทับใจของศิลปินท่านใดท่านหนึ่งก็ได้ หรือในทางกลับกันการที่มองภาพอันสวยงามที่เป็นผลงานของศิลปินเอกก็สามารถนำความประทับใจนั้นมาแสดงออกเป็นเสียงเพลงและบทกวีได้ ดังที่มีนักประพันธ์หลายท่านประพันธ์เพลงขึ้นจากความประทับใจเหล่านั้น เพราะภาพเขียนหรืองานทัศนศิลป์ต่าง ๆไม่ใช่เป็นเพียงรูปทรงแต่มีทั้งเรื่องราวและจิตวิญญาณของศิลปินแฝงอยู่ในผลงานนั้น ๆ ด้วยนอกจากจะสามารถเทียบเคียงจินตนาการซึ่งกันและกันได้แล้ว ศิลปะทั้ง 3 สาขา ยังสามารถใช้อธิบายที่มาทางวัฒนธรรมซึ่งกันและกันได้อีกด้วย มีผู้คนเคยถามอยู่เสมอว่าทำไมการร้องเพลงไทยต้องมีเสียงเอื้อนเอ่ยต่อเนื่อง อ่อนโยน ทำไมท่ารำไทยต้องตั้งวง กรีดจีบ กรีดกราย เยื้องย่างกรีดกรายชดช้อย การที่จะตอบคำถามได้ชัดเจน ก็ต้องไปเทียบเคียงกับงานทัศนศิลป์ที่มีแหล่งกำเนิดมาจากจิตวิญญาณเดียวกัน คือ ให้ไปพิจารณาภาพจิตรกรรมไทย ลายรดน้ำ ปูนปั้น หน้าบันโบสถ์วิหาร ปราสาทราชวัง ก็จะจินตนาการถึงเสียงเอื้อนอันอ่อนโยน ท่ารำเยื้องย่าง กรีดกรายชดช้อยได้ไม่ยากเลย จะเห็นได้ว่าถ้าหากเรามีความเข้าใจในงานศิลปะแขนงใดแขนงหนึ่งอย่างดีแล้ว ก็สามารถทำให้เข้าถึงศิลปะแขนงอื่นได้เช่นกัน ขอเพียงแต่ให้ผู้นั้นเปิดใจให้กว้างก็จะทำให้เห็นสายสัมพันธ์ที่โยงใยอย่างไม่มีวันแยกจากกันอยู่ภายใน

 

ประโยชน์ของสุนทรียศาสตร์

สุนทรียศาสตร์ นับว่าเป็นศาสตร์อันลึกซึ้ง เป็นศาสตร์ที่พัฒนาจิตใจของมนุษย์โดยเฉพาะ มนุษย์จำเป็นต้องศึกษาเพื่อปรับปรุงตนเองให้เป็นผู้มีรสนิยมสูง เพื่อประโยชน์ในการแสวงหาความสุขทางใจ และเพื่อเข้าถึงศิลปะทุกประเภท อันมนุษย์เราจะต้องเกี่ยวข้องโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเข้าถึงศิลปะนั้นได้รับประโยชน์หลายประการด้วยกัน คือ

 

1. ได้รับรสความงามอมตะทางศิลปะ ซึ่งไม่เคยมีหรือเคยเห็นในธรรมชาติมาก่อน เรียกว่าได้รู้ได้เห็นเหนือกว่าคนธรรมดา

2. ความงามศิลปะจะฝังแน่นโดยความทรงจำ ไม่ลืมเลือนง่าย ๆ

3. ศิลปะทำให้มนุษย์เรามีความเห็นร่วมกัน ทำให้จิตใจผูกพันต่อกัน คนที่มีอารมณ์มีรสนิยมตรงกัน จะมีความเข้าใจ จะรักกันแน่นแฟ้นยิ่งกว่าสิ่งอื่น

4.วรรณคดีชั้นสูงหรือศิลปะชั้นสูง จะมีจุดโน้มเอียงให้เราเข้าใจถึงคุณงามความดีบางอย่าง ซึ่งศิลปะซ่อนเร้นอยู่แล้ว ก็ยิ่งได้รับรสความลึกซึ้งของศิลปะเพิ่มขึ้นและพลอยปรับปรุงจิตใจให้มีการคล้อยตามไปด้วย

สรุปแล้ว ศิลปะ คือสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์เพื่อสนองความต้องการของตนเองและสังคม

องค์ประกอบของศิลปะ

 

1. สื่อ (Media) ได้แก่ สิ่งที่ศิลปินนำมาใช้เพื่อถ่ายทอดการสร้างสรรค์ของตนให้ประจักษ์แก่ผู้ อื่น เช่น ผ้าใบและสีสำหรับจิตรกรรม หินอ่อนสำหรับประติมากรรม คำพูดสำหรับกวีนิพนธ์

2. เนื้อหา ( Content) ได้แก่ เรื่องราวที่ศิลปิน แสดออกมาโดยใช้สื่อที่เหมาะสม เช่น เรื่องพระอภัยมณีในกวีนิพนธ์ของสุนทรภู่ ตัวทศกัณฐ์ในภาพเขียน พระพุทธรูปในประติมากรรม เป็นต้น

3. สุนทรียธาตุ (Aesthetical elements) มีได้ 3 อย่าง คือ ความงามความแปลกหูแปลกตา และความน่าทึ่ง


การที่คนใดคนหนึ่งมีสุนทรียธาตุในความสำนึก เราเรียกว่าประสบการณ์ทางสุนทรียศาสตร์

ศิลปะชิ้นหนึ่ง ๆ อาจมีสุนทรียธาตุเพียงอย่างเดียวหรือหลายอย่างผสมกันก็ได้ เช่น พระพุทธรูปอามีทั้งความงาม และความน่าทึ่งปนกัน ภาพต้นโกอาจจะมีทั้งความงาม ความแปลกหูแปลกตาและความน่าทึ่งรวมอยู่ในภาพเดียวกันก็ได้ นอกจากนั้นสิ่งตามธรรมชาติซึ่งมิได้เกิดจากการสร้างสรรค์ของมนุษย์ก็มีสุนทรียธาตุเหล่านี้ได้ด้วย สิ่งสำคัญในศิลปะก็คือ กระสวนหรือรูปแบบ แต่สำคัญก็เฉพาะเพื่อเป็นกระสวนของอาเวคบางอย่างเท่านั้น เพราะกระสวนของอาเวคก็คือ เสียงของอาเวคนั่นเอง ฉะนั้น ศิลปะก็คือ รูปทรงที่มีความหมาย และรูปทรงที่มีความหมายนั้นก็คือ ความหมายของงอาเวคนั่นเอง เพราะฉะนั้น สิ่งที่สวยงามก็คือ รูปทรง ( From ) เท่านั้น

ความงามคืออะไร ?

ความงามคือความชัดเจนแจ่มแจ้งของเหตุผลของพระเจ้า หรือการแสดงออกของสิ่งสัมบูรณ์

ความงามคือสิ่งที่ให้เกิดความเพลิดเพลินเมื่อได้รู้ได้เห็น ความงามและความดีโดยเนื้อแท้แล้วเป็นสิ่งเดียวกัน เพราะทั้งสองอย่างขึ้นอยู่กับรูปแบบ สัดส่วน ระเบียบและความกลมกลืน

ความงามก็คือ ผลของความรู้สึกว่างาม.

ความงามคือการสร้างความรู้สึกของอาเวคให้เป็นรูปร่าง

ความงามคือสัมพันธภาพระหว่างสิ่งทั้งสองสิ่ง คืออินทรีย์ของมนุษย์กับวัตถุ

ความงามคือความพอใจอันเกิดจากความประทับใจในความกลมกลืนกันอย่างพอเหมาะของรูปทรงอันชวนคิดของศิลปวัตถุ ทำให้ใจเพลิดเพลินอย่างลึกซึ้ง ฉะนั้น ความงามจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่มีความสนใจกับวัตถุที่ถูกบังคับนั้นสนใจ

ความงามคือภาวะที่กระบวนการทางชีววิทยาของมนุษย์ถึงความสมบูรณ์เต็มที่

ฉะนั้น ความงามจึงเป็นรูปแบบกิจกรรมที่มนุษย์ใช้เป็นเครื่องมืออธิบายตนเองโดยสร้างวัตถุภายนอกขึ้นมาแล้วใส่ความหมายเชิงรูปแบบ (Formal meaning) ลงไปในวัตถุนั้น

ความจริงคือความงาม และความงามก็คือความจริง," ซึ่งก็คล้าย ๆ กับความคิดของชาวญี่ปุ่นที่ถือว่า สิ่งที่สวยงามก็คือ สิ่งที่ดี, สิ่งที่น่าเกลียดก็คือ สิ่งที่เลว.

 

ศิลปินคือใคร ?

ศิลปินผู้สูงส่งคือผู้ที่หยิบยื่นความรู้สึกที่ตนเองได้สัมผัสมาแล้วให้แก่บุคคลอื่น โดยการอาศัย

สัญลักษณ์ภายนอกเป็นเครื่องมือ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้อื่นได้สัมผัสความรู้สึกอันนั้นเช่นกับที่ตนได้สัมผัสมาแล้ว

ศิลปินคือผู้ที่ไม่ถือประโยชน์ส่วนบุคคลหรือประโยชน์ส่วนในทางการใช้สอยเป็นอุดมคติ แต่เป็นผู้ที่

มีความรักในรูปทรงและมีแรงบันดาลใจในอันที่จะก่อให้เกิดการสร้างสรรค์อันเต็มไปด้วยความหมาย ซึ่งการสร้างสรรค์ดังกล่าวนี้ บางครั้งก็เป็นผลของการตั้งใจทุ่มเทพลังส่วนเกินของตนทั้งสิ้นลงไปในงานชิ้นนั้นเท่านั้น โดยมิได้คำนึงว่ามันจะมีประโยชน์หรือไม่ หรือว่าจะเอาไปใช้ทำอะไรได้จริง ๆ หรือไม่

ศิลปินคือผู้ที่มีสมรรถนะพิเศษในอันที่จะทำให้ความรู้สึกของตนกลายเป็นรูปร่างขึ้นมาตามกระ

บวนของความรู้สึกนั้น ๆ และความรู้สึกจะกลายเป็นเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อศิลปินเองก็ยอมรับว่า ผลงานที่ตนสร้างขึ้นมานั้นตรงตามความรู้สึกที่ตนได้สัมผัสมาแล้ว หรือยอมรับว่า ตนจะต้องเกิดความรู้สึกเช่นนั้นเมื่อประสบกับเหตุการณ์เช่นนั้น

 

ประสบการณ์ทางสุนทนรียะกล่าวโดยสรุปได้ดังนี้

1. อยากดู อยากฟัง เพื่อสนองความอยากดู อยากฟังเท่านั้น ไม่มุ่งหวังผลอย่างอื่น

2. สนใจลักษณะการที่ปรากฏ (appearance) ของสิ่งที่เราดู มากกว่าประโยชน์ของมัน

3. ทำให้เกิดความพึงพอใจ (feeling of pleasure or impression) เสมอ

4. ทำให้ลืมเหตุการณ์ในชีวิตจริง (practical activity) ได้ชั่วขณะ เป็นเหตุให้ได้รับความผ่อนคลายทางอารมณ์

5. ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นอันเดียวกัน (emphaty) และความคิดล่องลอย (psychic distance)

ความรู้สึกทางสุนทรียะเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ฉะนั้น ในการที่จะเกิดความรู้สึกทางอารมณ์ทางสุนทรียะได้ อวัยวะรับรู้หรืออวัยวะสัมผัส จึงมีส่วนสำคัญในประสบการณ์ทางสุนทรียะเหมือนกัน อวัยวะที่มีส่วนสำคัญในประสบการณ์ทางสุนทรียะมากที่สุดก็คือ จักขุนทรีย์ (อวัยวะในการเห็น) กับโสตินทรีย์ (อวัยวะในการฟัง) หรือว่าการดูกับการฟังนั่นเอง ส่วนอวัยวะในการดมกับอวัยวะในการชิมรสหรือลิ้มรส (จมูกกับลิ้น) มีส่วนเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ทางสุนทรียะน้อยที่สุด

 

คุณค่าทางสุนทรียศาสตร์

ความงามเป็นสิ่งลึกซึ้งที่มีอยู่ทั่วไปในทุกสิ่ง อาจหมายถึงคุณสมบัติในทางศีลธรรมรูปสมบัติหรือสิ่งที่โน้มน้าวใจให้รู้สึกปลาบปลื้ม ชื่นชม รื่นเริงบันเทิงใจ ความงามอาจมีอยู่รอบตัวเราโดยไม่จำกัดสภาพ เช่นดอกไม้ ต้นไม้ สัตว์ มนุษย์ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา หรือกิริยาท่าทางของคนและสัตว์ที่เป็นไปโดยธรรมชาติ สิ่งต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นอาจจะงามได้ ถ้ามีระบบ (Order) มีความประสานกลมกลืน (Harmony) และมีแบบอย่าง (Style) ที่เป็นไปตามความนิยมของสังคมแต่ละยุค

ส่วนการแสดงออกทางด้นจิตใจ ซึ่งเราเรียกว่าความดี เช่น การเห็นใจผู้อื่น การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเมตตาปราณี ความรักความบริสุทธิ์ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยให้มีความสุข มีความสามัคคี และนำมาซึ่งสันติ เราเรียกว่าเป็นความงามได้ สมดังที่กล่าวว่า ความงามกับความดีคือสิ่งเดียวกันนั่นเอง

คุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ได้แก่ความงาม นักปรัชญาบางท่านถือว่าความงามเป็นวัตถุวิสัย เพราะมีอยู่ในวัตถุ โดยไม่ขึ้นกับจิต แต่บางท่านถือว่าความงามเป็นจิตวิสัย เพราะที่ตั้งของความงามอยู่ที่จิตซึ่งเป็นคุณค่าความงาม และความงามนั้นขึ้นอยู่กับประเพณีมรดกสังคม

 

การวิจารณ์งานศิลปกรรม
              การวิจารณ์ หมายถึง การแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดตามความรู้ ความเข้าใจจากประสบการณ์ของผู้วิจารณ์ ประกอบกับข้อเสนอแนะ เพิ่มเติม ปรับปรุงผลงานนั้น ๆ ในทางที่ดี หรือหนักไปทางบวกถ้ามองไปในแง่ลบ จะเป็นการประจาน
ผลงานศิลปกรรมทุกชิ้น สามารถมองกันได้ 2 อย่าง คือ
1. มองในแง่ของความซาบซึ้ง (appreciatively)
2. มองในแง่ของการวิพากษ์วิจารณ์(critically)
ทฤษฎีทางสุนทรียภาพที่จะนำมาใช้ในการตัดสินผลงานของผู้วิจารณ์
1.       ทฤษฎีจิตวิสัยนิยม(Subjectivism)เชื่อว่าการตัดสินผลงานทางศิลปะเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล
- ที่แสดงความประทับใจ หรือถ่ายทอดมโนภาพของตนให้ปรากฏด้วยแนวทางต่าง ๆ กัน
- คุณค่าทางสุนทรียภาพของศิลปะขึ้นอยู่กับความรู้สึกตอบสนองของคนดู ไม่ใช่อยู่ที่วัตถุ
-เป็นความคิดเห็นส่วนตัว
        2. ทฤษฎีวัตถุวิสัยนิยม(Objectivism)
เชื่อว่ามีหลักเกณฑ์มาตรฐานแน่นอนทางศิลปะ จะนำไปตัดสินผลงานได้ทุกยุคทุกสมัย จะเป็นผลงานชนิดใดก็ได้ หลักเกณฑ์มาตรฐานไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เปิดโอกาสให้แสดงความรู้สึกส่วนตัว
เช่น ศิลปะแบบนีโอคลาสสิค (Neo Classic)
3.       ทฤษฎีสัมพัทธ์นิยม(Relativism)
เชื่อว่ามีมาตรฐานทางวัตถุวิสัยแน่นอน(Objective Standards) โดยเฉพาะของสังคมแต่ละสังคม ตามวัฒนธรรมที่ศิลปินนั้นมีส่วนร่วมอยู่ต้องมีความรู้ ความเข้าใจในวัฒนธรรมต่าง ๆ เป็นอย่างดี       ผู้วิจารณ์ต้องตัดอคติใด ๆ ออกให้หมดสิ้น วางตนเป็นกลาง
สรุปการใช้ 3 ทฤษฎีเป็นกรอบในการวิจารณ์ศิลปะ
- หากศิลปะใดเน้นกฎเกณฑ์ใช้ทฤษฎีวัตถุวิสัยนิยม (Objectivism)
-ถ้ามุ่งความสำคัญที่อยู่ในตัวศิลปิน ความคิดสร้างสรรค์ใช้ทฤษฎีจิตวิสัยนิยม (Subjectivism)
- ถ้ามุ่งความเป็นสากลใช้ทฤษฎีสัมพัทธ์นิยม (Relativism)




คุณสมบัติของผู้วิจารณ์ผลงานทางศิลปะ
เป็นผู้มีความรู้ในแขนงวิชาศิลปะประเภทใดประเภทหนึ่งที่จะวิจารณ์โดยเฉพาะ และรู้ละเอียด
ลึกซึ้ง สามารถเสนอแนะและแสดงความคิดเห็น เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ เป็นผู้สามารถเชื่อมโยงวิชาความรู้อื่น ๆ กับศิลปะได้เป็นอย่างดี เป็นผู้มีน้ำใจกว้าง ยอมรับความคิดเห็นผู้อื่น แบ่งปันความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มีแนวและหลักการของตนเอง
หลักในการวิจารณ์ศิลปะ
มโนภาพ(Conception) คือ ความคิดเห็นที่สร้างเป็นศิลปกรรมชิ้นนั้น ความรู้สึกสะเทือนใจ ไม่ใช่เพราะดูงามตา แต่เป็นเพราะมีอำนาจอย่างแรงกล้าในจิตใจของเราอย่างถาวร
 การแสดงออก คือท่าทีของศิลปะที่สามารถทำให้เราได้เพ่งใจคิด ลืมตัวลืมโลกที่อยู่ภายนอก เช่น ฟังเพลงที่จับใจ ดูภาพยนตร์ที่สะเทือนใจ เป็นต้น
องค์ประกอบ ต้องศึกษาองค์ประกอบของศิลปกรรมนั้น ๆ ประสานเข้ากันหรือไม่ บางอย่างอาจขัดกัน แต่มีความรู้สึกเข้ากันเป็นเอกภาพเป็นต้น ท่วงทีที่แสดงออกทั่วไปมีลักษณะเฉพาะตนคือมีลักษณะพิเศษในการ
เทคนิค คือความสามารถและวิธีทำงานวิชาชีพของศิลปิน เทคนิคช่วยให้ศิลปกรรมมีความสมบูรณ์
ปัญหาในการวิจารณ์ศิลปะ
ด่วนวินิจฉัย เพียงได้อ่านได้เห็นเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะเรื่องแบบ และวิธีแสดง เทคนิค  มีอคติไม่ตรงกับสิ่งที่เราชอบ หรือได้เห็นได้ฟัง หรือได้อ่านในชีวิตจริง

 

บทสรุป

สุนทรียศาสตร์คือวิชาที่ว่าด้วยเรื่องของความงาม คุณค่าแห่งความงามของสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเราในสุนทรียะนั้นเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่าประสบการณ์โดยมีองค์ประกอบสำคัญ ๆ คือ

1. ความรู้สึกทางประสาทสัมผัส เราได้รับความรู้สึกทางประสาทสัมผัสของเสียงและแสง โดยทางหูและทางตา และถ้าปราศจากการรับรู้ทางประสาทสัมผัสเช่นนั้น ประสบการณ์สุนทรียะก็เป็นไปไม่ได้


2. อารมณ์ อารมณ์ที่เป็นสุข หรืออารมณ์เศร้าจะมาสู่เราได้โดยวิธีการทางประสาทสัมผัส เช่นดนตรี เสียงที่อ่อนนุ่มและยาวนานจะสร้างความรู้สึกที่เศร้าแก่ผู้ฟัง

 

3. ความหมาย ในบางครั้ง ความหมายที่เด่นชัดจะมาสู่เราได้โดยทางเสียง หรือคำ นี้เป็นความจริงและถูกต้องทางวรรณคดี เพราะในวรรณคดีนั้น คำเป็นสื่อแห่งความหมายมาสู่เรา งานทางศิลปะนั้นเปลี่ยนแปลงได้บนพื้นฐานแห่งความหมายที่สื่อมาสู่เรา


4. ความรู้สึก ประสบการณ์ทางสุนทรียะนั้นมิใช่สิ่งที่แห้งผาก แต่เป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยความรู้สึก ในกรณีของภาพเขียนลอกแบบธรรมชาติ เราได้ประสบการณ์แห่งความรู้สึกที่เหมือนกัน เช่นเดียวกับที่เราได้ประสบการณ์เมื่อเราเห็นวัตถุที่แท้จริงที่ถูกลอกแบบ นั้น ตัวอย่างเช่น คนรักม้าจะได้รับความรู้สึกเป็นสุขเมื่อเขาได้เห็นภาพเขียนของม้าและความ รู้สึกเป็นสุขนี้สามารถเทียบได้กับความรู้สึกเป็นสุขที่เขาเห็นม้าที่แท้ จริง

 

5. ตัวบุคคล ประการสุดท้าย ตัวของบุคคลเองกลายเป็นผู้ชี้ขาดการรับรู้ประสบการณ์สุนทรียะ และเริ่มเข้าร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสิ่งสุนทรียะนั้น แต่การเข้าร่วมนั้น ตัวบุคคลไม่รู้เลยว่าตัวเองกำลังเข้าร่วมกับสิ่งสุนทรียะนั้น สุนทรียศาสตร์เป็นศาสตร์อันลึกซึ้ง เป็นศาสตร์ที่พัฒนาจิตใจของมนุษย์ และปรับปรุงตนเองให้มีรสนิยมสูงขึ้น อันเป็นผลส่งสะท้อนให้เห็นถึงหลักจริยศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี หรือวัฒนธรรม ที่ถ่ายทอดออกมาเป็นศิลปะ ซึ่งมีธาตุแห่งสุนทรียธาตุแฝงอยู่ในตัว รวมไปถึงเป็นการบงชี้ที่แสดงให้เห็นถึงความมีศีล มีธรรม ที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นศิลปะอีกด้วย

 

วิมาน

ลายหม้อบูรณคต