บทที่3 ประเภทของทัศนศิลป์



            มีผู้นิยามไว้มากมายหลายความหมายของศิลปะด้วยกัน  เช่น  การเลียนแบบธรรมชาติ  การแสดงออกเกี่ยวกับความศรัทธาความเชื่อถือของแต่ละสมัย  สื่อติดต่อระหว่างกันแบบหนึ่ง  ภาษาหนึ่ง  การแสดงออกทางบุคลิกภาพเด่น ๆ ของศิลปิน  การถ่ายทอดความรู้สึกหรือแสดงความรู้สึกเป็นรูปทรง  การแสดงออกทางความงาม  การแสดงออกทางความเชื่อม  ความชำนาญ  ในการเรียงประสบการณ์และถ่ายทอดตามจินตนาการให้เป็นวัตถุที่มีสุนทรียภาพ  การรับรู้ทางการเรียน
            สรุปแล้วศิลปะคือสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมาให้มีความสวยงามละเอียดอ่อน  จากการถ่ายทอดเอาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัวนำมาประกอบจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์โดยการเลือกวัสดุและเทคนิคที่เหมาะสมจัดเป็นรูปทรงใหม่  ทำให้ผลงานนั้นมีความสวยงาม  เป็นที่น่าประทับใจแก่ผู้พบเห็นก่อให้เกิดความรู้สึกสะเทือนอารมณ์หรือความพึงพอใจ  เพลิดเพลิน  ซึ่งเป็นความละเอียดอ่อนดีงามที่เรียกว่าสุนทรียภาพ
            ศิลปะไม่ใช่ธรรมชาติ  ธรรมชาติ  หมายถึง  สิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยที่มนุษย์ไม่ได้มีส่วนปรุงแต่งให้ผิดไปจากเดิม  เช่น  ภูเขา  ต้นไม้  ลำธาร  ศิลปะจะต้องเกิดจากฝีมือมนุษย์กับความคิดของมนุษย์เท่านั้นและสัตว์ก็ไม่สามารถสร้างงานศิลปะได้เช่นกัน

คุณค่าของศิลปะ

            ในขณะที่มนุษย์เป็นตัวการสำคัญในการสร้างสรรค์งานศิลปะทำการถ่ายทอดสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ด้วยวัสดุที่ได้เลือกสรรมาแล้วนำมาประกอบเป็นรูปทรงใหม่  ประกอบกับความคิดสร้างสรรค์  (Creative  idea)  ซึ่งจะมีผลให้ผลงานศิลปะนั้น ๆ มีรูปแบบเทคนิคต่าง ๆ ที่แปลกใหม่สามารถสร้างความสนใจแตกต่างกันออกไป  เนื่องจากสิ่งแวดล้อมได้เป็นตัวกำหนด  ให้มนุษย์แบ่งแยกเป็นกลุ่มเป็นประเทศทำให้เกิดขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปกรรมที่แตกต่างกันออกไป  ดังนั้นงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นมา  โดยมนุษย์ในแต่ละสังคมนั้นก็จะมีแฝงคุณค่าอยู่เสมอ  คุณค่าของศิลปะสามารถแยกรายละเอียดได้ดังนี้
1.       ศิลปะเป็นสื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันทางวัฒนธรรม  ศิลปกรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี
2.       ศิลปะเป็นสื่อสะท้อนสภาพทางสังคมและยกระดับค่านิยมของสังคมให้เจริญสูงขึ้น
3.     ศิลปะจะช่วย สนับสนุนส่งเสริมให้เกิดอารมณ์สุนทรียภาพทำให้มีความเพลิดเพลินเกิดความ รู้สึกที่ละเอียดอ่อนดีงามทำให้จิตใจและอารมณ์เจริญงอกงามในทางที่ดีอยู่ ร่วมกันอย่างสงบสุข

ประเภทของศิลปะ

            แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ คือ
1.       วิจิตรศิลป์  Fine  Art  แบ่งออกเป็นสาขา  ดังนี้
-         จิตรกรรม  Painting
-         ประติมากรรม  Sculpture
-         สถาปัตยกรรม  Architecture
-         วรรณกรรม  Literature
-         นาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์   Music  &  Drama
-         ภาพพิมพ์และสื่อประสม  Printing  &  Mix media
2.       ประยุกต์ศิลป์  Applied  Art  แบ่งออกเป็น  4  สาขา  ดังนี้
-         พาณิชยศิลป์  Commercial  Art
-         มัณฑนศิลป์  Decorative  Art
-         อุตสาหกรรมศิลป์  Industrial  Art
-         หัตถกรรม  Handicraft

นอกจากนี้ยังแบ่งประเภทของงานศิลปะได้อีกแนวทางหนึ่ง  คือ
1.       สุตศิลป์  คือ  งานที่สามารถได้ยินเสียงหรือรับฟังได้
2.       ทัศนศิลป์  คือ  งานที่สามารถมองเห็นได้
วิจิตรศิลป์  เป็นงานศิลปะที่มุ่งเน้นความงามเป็นหลัก  สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ทางด้านจิตในและอารมณ์มากว่าประโยชน์ด้านอื่น ๆ

จิตรกรรม(Painting)

            คือ  การสร้างผลงานศิลปะ  โดยการวาด  ขีด  เขียน  แต้ม  ถู  ระบาย  สลัด  พ่น  ลงบนพื้นระนาบเกิดเป็นภาพ  ลักษณะงานจะเป็นแบบ  2  มิติ  ผู้ที่ทำงานด้านนี้เรียกว่า  จิตรกร  ผลงานด้านจิตรกรรมแบ่งออกได้หลายประเภทตามลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
1.     แยกตามวัสดุและเทคนิคที่ใช้  เช่น  จิตรกรรมสีเทียน  จิตรกรรมสีน้ำ  จิตรกรรมสีน้ำมัน  จิตรกรรมสีฝุ่น  จิตรกรรมสีอะคริลิค  จิตรกรรมสีโปสเตอร์  จิตรกรรมสื่อผสม
2.     แยกตามเรื่องราวของภาพ  เช่น  จิตรกรรมหุ่นนิ่ง  จิตรกรรมภาพคนเต็มตัว  จิตรกรรมภาพคนครึ่งตัว  จิตรกรรมภาพสัตว์  จิตรกรรมภาพทิวทัศน์  จิตรกรรมทะเล  จิตรกรรมสิ่งก่อสร้าง
3.       แยกตามตำแหน่งที่ตั้ง  เช่น  จิตรกรรมฝาผนัง  จิตรกรรมบนภาชนะ  จิตรกรรมบนถนนนอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกแปลก ๆ ปลีกย่อยตามความนิยมและความเหมาะสมของแต่ละสมัยอีกด้วย

นอกจากนี้งานจิตรกรรม ยังสามารถแบ่งออกได้ อีก 2 ชนิด คือ  
1. การวาดเส้น (Drawing) เป็นการวาดภาพโดยใช้ปากกา หรือดินสอ ขีดเขียนลงไป
(แปลก    กิจเฟื่องฟู  2539)  บนพื้นผิววัสดุรองรับเพื่อให้เกิดภาพ การวาดเส้น คือ การขีดเขียนให้เป็นเส้นไม่ว่าจะเป็นเส้นเล็ก หรือเส้นใหญ่มักมีสีเดียวแต่ การวาดเส้นไม่ได้จำกัดที่จะต้องมีสีเดียว อาจ
มีสีหลาย สีก็ได้การวาดเส้น จัดเป็นพื้นฐานที่สำคัญของงานศิลปะแทบทุกชนิดอย่างน้อย ผู้ฝึกฝนงานศิลปะควรได้มีการฝึกฝนงานวาดเส้นให้เชี่ยวชาญเสียก่อน ก่อนที่จะไปทำงานด้านอื่น ต่อไป
2.  การระบายสี (Painting) เป็นการวาดภาพโดยการใช้พู่กัน หรือแปรง หรือวัสดุอย่างอื่นมาระบายให้เกิดเป็นภาพ  การระบายสี ต้องใช้ทักษะการควบคุมสีและเครื่องมือมากกว่าการวาดเส้น ผลงานการระบายสีจะสวยงาม เหมือนจริง และสมบูรณ์แบบมากกว่าการวาดเส้น
ลักษณะของภาพจิตรกรรม
        งานจิตรกรรม ที่นิยมสร้างสรรค์ขึ้นมีหลายลักษณะ ดังนี้คือ
        1. ภาพหุ่นนิ่ง  (Sill life) เป็นภาพวาดเกี่ยวกับสิ่งของเครื่องใช้หรือ วัสดุต่าง ๆที่ไม่มีการ
เคลื่อนไหว เป็นสิ่งที่อยู่กับที่
        2. ภาพคนทั่วไป  แบ่งได้ 2 ชนิด คือ
                2.1 ภาพคน (Figure) เป็นภาพที่แสดงกิริยาท่าทางต่างๆของมนุษย์โดยไม่เน้นแสดงความเหมือนของใบหน้า
                2.2 ภาพคนเหมือน (Potrait) เป็นภาพที่แสดงความเหมือนของใบหน้า ของคน ใดคนหนึ่ง
        3. ภาพสัตว์( Animals Figure)  แสดงกิริยาท่าทางของสัตว์ทั้งหลาย ในลักษณะต่างๆ
        4. ภาพทิวทัศน์(Landscape) เป็นภาพที่แสดงความงาม หรือความประทับใจในความงาม ของ
ธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อม ของศิลปินผู้วาด  ภาพทิวทัศน์ยังแบ่งเป็นลักษณะต่าง ๆได้อีก คือ
                4.1 ภาพทิวทัศน์ผืนน้ำ หรือ ทะเล (Seascape )
                4.2 ภาพทิวทัศน์บกหรือผืนดิน (Landscape)
                4.3  ภาพทิวทัศน์ของชุมชนหรือเมือง (Cityscape)
         5. ภาพประกอบเรื่อง (Illustration) เป็นภาพที่เขียนขึ้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราว หรือถ่ายทอดเหตุการณ์ต่าง ๆให้ผู้อื่นได้รับรู้โดยอาจเป็นทั้งภาพประกอบเรื่องในหนังสือ พระคัมภีร์หรือภาพเขียนบนฝาผนัง อาคาร  สถาปัตยกรรมต่างๆและรวมถึงภาพโฆษณาต่างๆด้วย
         6. ภาพองค์ประกอบ (Composition) เป็นภาพที่แสดงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบของศิลปะ และลักษณะในการจัดองค์ประกอบ เพื่อให้เกิดความรู้สึกต่างๆตามความต้องการของผู้สร้าง โดยที่อาจไม่เน้น แสดงเนื้อหาเรื่องราวของภาพ หรือ แสดงเรื่องราวที่มาจากความประทับใจ โดยไม่ยึดติดกับความเป็นจริงตามธรรมชาติ ผลงานชนิดนี้มักปรากฏมากในงานจิตรกรรมสมัยใหม่
        7. ภาพลวดลายตกแต่ง (Decorative painting) เป็นภาพวาดลวดลายประกอบเพื่อตกแต่งสิ่งต่างๆ ให้เกิดความสวยงามมากขึ้น เช่น การวาดลวดลายประดับอาคาร  สิ่งของเครื่องใช้ ลวดลายสัก  ฯลฯ    

ประติมากรรม(Sculpture)

            คือ  ผลงานศิลปะที่ใช้วัสดุต่าง ๆ มาสร้างขึ้นในลักษณะ  3  มิติ กินเนื้อที่ในอากาศ โดยการใช้วัสดุชนิดต่าง ๆ  วัสดุที่ใช้สร้างสรรค์งานประติมากรรม จะเป็นตัวกำหนดโดยการปั้น  แกะ  หล่อ  เชื่อม  ผู้สร้างงานเราเรียกว่า  ประติมากร
            ประติมากรรม  หมายถึง  ผลงานที่สร้างขึ้นมาเพื่อประโยชน์ทางพุทธศาสนา  เช่น  พระพุทธรูป  เทวรูป
วิธีการสร้างผลงาน ความงามของงานประติมากรรม  เกิดจากการแสงและเงาที่เกิดขึ้นในผลงานการสร้างงานประติมากรรมทำได้ 4 วิธี  คือ
        1. การปั้น (Casting) เป็นการสร้างรูปทรง 3 มิติ จากวัสดุ ทีเหนียว อ่อนตัว และยึดจับตัว กันได้ดี  วัสดุที่นิยมนำมาใช้ปั้น ได้แก่  ดินเหนียว  ดินน้ำมัน ปูน  แป้ง ขี้ผึ้งกระดาษ หรือ ขี้เลื่อยผสมกาว  เป็นต้น
        2. การแกะสลัก (Carving)  เป็นการสร้างรูปทรง 3 มิติ จากวัสดุที่ แข็ง  เปราะ โดยอาศัย
เครื่องมือ วัสดุที่นิยมนำมาแกะ ได้แก่  ไม้  หิน  กระจก  แก้ว  ปูนปลาสเตอร์  เป็นต้น
        3. การหล่อ (Molding) เป็นการสร้างรูปทรง 3 มิติ จากวัสดุที่หลอมตัวได้และกลับแข็งตัวได้   โดยอาศัยแม่พิมพ์  ซึ่งสามารถทำให้เกิดผลงานที่เหมือนกันทุกประการตั้งแต่  2 ชิ้นขึ้นไป วัสดุที่นิยมนำมาใช้หล่อ ได้แก่ โลหะ  ปูน  แป้ง  แก้ว  ขี้ผึ้ง  ดิน เรซิ่น พลาสติก ฯลฯ           
4. การประกอบขึ้นรูป (Construction)  เป็นการสร้างรูปทรง 3 มิติ โดยนำวัสดุต่าง ๆ
มา ประกอบเข้าด้วยกัน และยึดติดกันด้วยวัสดุต่าง ๆ ประติมากรรม  แบ่งออกเป็น  3  ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
1.       แบบนูนต่ำ  (Bas  relief)  ผลงานที่สามารถมองเห็น  ได้เพียงด้านหน้าด้านเดียว  เช่น  เหรียญบาท  พระเครื่องห้อยคอ
2.     แบบนูนสูง  (High  relief)  ผลงานที่สามารถมองเห็น  2  ด้าน  คือ  ด้านหน้าและด้านข้าง  มีลักษณะนูนขึ้นมาจากพื้นหลังมาก  เช่น  หน้าพระประดับผนัง  รูปปั้นที่ฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
3.     แบบลอยตัว  (round  relief)  ผลงานที่สามารถมองเห็นได้รอบด้านมีฐานตั้งรูป  เช่น  พระบรมรูปทรงม้ารัชกาลที่  5  อนุสาวรีย์สามกษัตริย์เชียงใหม่
สถาปัตยกรรม (Architecture)   
คือ  ผลงานที่มีขนาดใหญ่โต  เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างที่อยู่อาศัย  หรือสถานที่ชุมนุมชน  ผู้ที่ทำงานออกแบบสิ่งก่อสร้างเรียกว่า  สถาปนิก  ผู้ที่ทำงานก่อสร้าง  วางฐานราก  ควบคุมการสร้างตามหลักวิศวกรรมเรียกว่า  วิศวกร  ผู้ที่ทำงานตกแต่งอาคารภายในภายนอกอาคาร  เรียกว่า  มัณฑนากร
เป็นผลงานศิลปะที่แสดงออกด้วยการก่อสร้างสิ่งก่อสร้าง อาคาร ที่อยู่อาศัยต่าง ๆ การวางผังเมือง   การจัดผังบริเวณการตกแต่งอาคาร การออกแบบก่อสร้าง ซึ่งเป็นงานศิลปะ ที่มีขนาดใหญ่ต้องใช้ผู้สร้างงานจำนวนมาก และเป็นงานศิลปะที่มีอายุยืนยาว สถาปัตยกรรม เป็นวิธีการจัดสรรบริเวณที่ว่างให้เกิดประโยชน์ใช้สอยตามความต้องการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับศาสตร์ในสาขาต่าง ๆ เช่น  วิศวกรรมศาสตร์  วิทยาศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา และศิลปะ ความงดงาม และคุณค่าของสถาปัตยกรรม ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ดังนี้ คือ
            1. การจัดสรรบริเวณที่ว่างให้สัมพันธ์กันของส่วนต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก
            2. การจัดรูปทรงทางสถาปัตยกรรมให้เหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอย และสิ่งแวดล้อม
            3. การเลือกใช้วัสดุให้เหมาะสมกลมกลืน
  สถาปัตยกรรมแบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ
        1. ชนิดที่สร้างขึ้นเพื่อให้มนุษย์เข้าไปอาศัยอยู่ หรือประกอบกิจกรรมต่าง ๆ เช่น อาคาร  บ้านเรือน โบสถ์  วิหาร ศาลา ฯลฯ
        2. ชนิดที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยอย่างอื่น ๆ เช่น อนุสาวรีย์  เจดีย์  สะพาน  เป็นต้น
ผู้สร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรม เรียนว่า สถาปนิก (Architect)
วรรณกรรม (Literature) 
            เป็นผลงานศิลปะที่แสดงออกด้วยการใช้ภาษา เพื่อการสื่อสารเรื่องราวให้เข้าใจระหว่างมนุษย์   ภาษาเป็นสิ่งที่มนุษย์คิดค้น และสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อใช้สื่อความหมายเรื่องราวต่าง ๆ ภาษาที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสารได้แก่
        1. ภาษาพูด  โดยการใช้เสียง
        2. ภาษาเขียน โดยการใช้ตัวอักษร  ตัวเลข  สัญลักษณ์ และภาพ
        3. ภาษาท่าทาง โดยการใช้กิริยาท่าทาง หรือประกอบวัสดุอย่างอื่น
            ความงามหรือศิลปะในการใช้ภาษาขึ้นอยู่กับ การใช้ภาษาให้ถูกต้อง  ชัดเจน และเหมาะสมกับเวลา โอกาส และบุคคล นอกจากนี้ ภาษาแต่ละภาษายังสามารถปรุงแต่งให้เกิดความเหมาะสม ไพเราะ สวยงามได้  ชาติไทย เป็นชาติที่มีอารยะธรรมเก่าแก่ มีภาษที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง ทั้งภาษาพูด และภาษาเขียน นอกจากนี้ ยังมีความคิดสร้างสรรค์ในการใช้ภาษาได้อย่างไพเราะ ถือเป็นความงามของการใช้ภาษาจากการแต่งโคลง กลอน คำประพันธ์ ร้อยแก้วต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีการบัญญัติคำราชาศัพท์  คำสุภาพ ขึ้นมาใช้ได้อย่างเหมาะสม แสดงให้เห็นวัฒนธรรมที่เป็นเลิศทางการใช้ภาษาที่ควรดำรง และยึดถือต่อไป  ผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรม เรียกว่า นักเขียน  นักประพันธ์ หรือ กวี (Writer or Poet)
วรรณกรรมไทย แบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ
            1. ร้อยแก้ว  เป็นข้อความเรียงที่แสดงเนื้อหา เรื่องราวต่าง ๆ
            2. ร้อยกรอง  เป็นข้อความที่มีการใช้คำที่สัมผัส คล้องจอง ทำให้สัมผัสได้ถึงความงามของภาษาไทย ร้อยกรองมีหลายแบบ คือ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย
ดนตรี และนาฏศิลป์ ( Music & Dramatic Art  )
            เป็นผลงานศิลปะที่แสดงออกด้วยการใช้เสียง การจัดจังหวะ และท่วงทำนองของเสียงด้วยการเล่นดนตรี และการขับร้องเพลง ที่มีผลต่ออารมณ์และจิตใจของมนุษย์ รวมถึงการใช้ท่าทางประกอบเสียง การเต้น ระบำ รำ ฟ้อน การแสดงละคร ฯลฯ  ผู้สร้างสรรค์งาน เรียกว่านักดนตรี (Musician) นักร้อง (Singer) หรือ นักแสดง (Actor / Actress)
การพิมพ์ภาพ   (  PRINTING  )
การพิมพ์ภาพ  หมายถึง   การถ่ายทอดรูปแบบจากแม่พิมพ์ออกมาเป็นผลงานที่มีลักษณะ
เหมือนกันกับแม่พิมพ์ทุกประการ  และได้ภาพที่เหมือนกันมีจำนวนตั้งแต่  2  ชิ้นขึ้นไป    การพิมพ์ภาพเป็นงานที่พัฒนาต่อเนื่องมาจากการวาดภาพ  ซึ่งการวาดภาพไม่สามารถสร้างผลงาน  2   ชิ้น    ที่มีลักษณะเหมือนกันทุกประการได้     จึงมีการพัฒนาการพิมพ์ขึ้นมาชาติจีน   ถือว่าเป็นชาติแรกที่นำเอาวิธีการพิมพ์มาใช้อย่างแพร่หลายมานานนับพันปี   จากนั้นจึงได้แพร่หลายออกไปในภูมิภาคต่างๆของโลก  ชนชาติทางตะวันตกได้พัฒนาการพิมพ์ภาพ ขึ้นมาอย่างมากมาย  มีการนำเอาเครื่องจักรกลต่างๆเข้ามาใช้ในการพิมพ์  ทำให้การพิมพ์มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
การพิมพ์ภาพมีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้
1.  แม่พิมพ์  เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการพิมพ์
2.  วัสดุที่ใช้พิมพ์ลงไป
3.  สีที่ใช้ในการพิมพ์
4.  ผู้พิมพ์
ผลงานที่ได้จากการพิมพ์  มี  2  ชนิด คือ
 1.  ภาพพิมพ์   เป็นผลงานพิมพ์ที่เป็นภาพต่างๆ  เพื่อความสวยงามหรือบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ
      อาจมีข้อความ  ตัวอักษรหรือตัวเลขประกอบหรือไม่มีก็ได้
2.  สิ่งพิมพ์  เป็นผลงานพิมพ์ที่ใช้บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ เป็นตัวอักษร  ข้อความ ตัวเลข  อาจมี
     ภาพประกอบหรือไม่มีก็ได้
ประเภทของการพิมพ์   การพิมพ์แบ่งออกได้หลายประเภทตามลักษณะต่าง  ดังนี้
1.  แบ่งตามจุดมุ่งหมายในการพิมพ์  ได้  2  ประเภท  คือ
1.1  ศิลปะภาพพิมพ์   (  GRAPHIC   ART  )  เป็นงานพิมพ์ภาพเพื่อให้เกิดความสวยงาม
   เป็นงานวิจิตรศิลป์
        1.2  ออกแบบภาพพิมพ์   ( GRAPHIC  DESIGN  ) เป็นงานพิมพ์ภาพประโยชน์ใช้สอยนอกเหนือไปจากความสวยงาม ได้แก่  หนังสือต่างๆ   บัตรต่างๆ  ภาพโฆษณา  ปฏิทิน  ฯลฯ จัดเป็นงาน ประยุกต์ศิลป์
2.  แบ่งตามกรรมวิธีในการพิมพ์  ได้  2  ประเภท  คือ
2.1  ภาพพิมพ์ต้นแบบ  ( ORIGINAL   PRINT ) เป็นผลงานพิมพ์ที่สร้างจากแม่พิมพ์และวิธีการพิมพ์ที่ถูก สร้างสรรค์และกำหนดขึ้นโดยศิลปินเจ้าของผลงาน  และเจ้าของผลงาน จะต้องลงนามรับรองผลงานทุกชิ้น  บอกลำดับที่ในการพิมพ์  เทคนิคการพิมพ์   และ วัน เดือน   ปี  ที่พิมพ์ด้วย
            2.2  ภาพพิมพ์จำลองแบบ   (  REPRODUCTIVE   PRINT  ) เป็นผลงานพิมพ์ที่สร้างจากแม่พิมพ์หรือวิธี การพิมพ์วิธีอื่น  ซึ่งไม่ใช่วิธีการเดิมแต่ได้รูปแบบเหมือนเดิม  บางกรณีอาจเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่น
3.  แบ่งตามจำนวนครั้งที่พิมพ์  ได้  2  ประเภท  คือ
3.1  ภาพพิมพ์ถาวร  เป็นภาพพิมพ์ที่พิมพ์ออกมาจากแม่พิมพ์ใดๆ  ที่ได้ผลงานออกมามีลักษณะเหมือนกันทุกประการ  ตั้งแต่  2  ชิ้นขึ้นไป
3.2  ภาพพิมพ์ครั้งเดียว  เป็นภาพพิมพ์ที่พิมพ์ออกมาได้ผลงานเพียงภาพเดียว  ถ้าพิมพ์อีกจะ ได้ผลงานที่ไม่เหมือนเดิม
4.  แบ่งตามประเภทของแม่พิมพ์  ได้  4  ประเภท  คือ
            4.1  แม่พิมพ์นูน  ( RELIEF   PROCESS  ) เป็นการพิมพ์โดยให้สีติดอยู่บนผิวหน้าที่ทำให้นูน
            ขึ้นมาของแม่พิมพ์   ภาพที่ได้เกิดจากสีที่ติดอยู่ในส่วนบนนั้น      แม่พิมพ์นูนเป็นแม่พิมพ์
            ที่ทำขึ้นมาเป็นประเภทแรก   ภาพพิมพ์ชนิดนี้ได้แก่  ภาพพิมพ์แกะไม้ ( WOOD-CUT )        ภาพพิมพ์แกะยาง ( LINO-CUT )  ตรายาง ( RUBBER  STAMP ) ภาพพิมพ์จากเศษวัสดุ
            4.2  แม่พิมพ์ร่องลึก  ( INTAGLIO  PROCESS ) เป็นการพิมพ์โดยให้สีอยู่ในร่องที่ทำให้ลึกลง
            ไปของแม่พิมพ์โดยใช้แผ่นโลหะทำเป็นแม่พิมพ์ ( แผ่นโลหะที่นิยมใช้คือแผ่นทองแดง )
และทำให้ลึกลงไปโดยใช้น้ำกรดกัด ซึ่งเรียกว่า  ETCHING   แม่พิมพ์ร่องลึกนี้พัฒนาขึ้นโดย ชาวตะวันตก  สามารถพิมพ์งานที่มีความ  ละเอียด  คมชัดสูง  สมัยก่อนใช้ในการพิมพ์ หนังสือ พระคัมภีร์  แผนที่  เอกสารต่างๆ  แสตมป์  ธนบัตร  ปัจจุบันใช้ในการพิมพ์งานที่เป็นศิลปะและธนบัตร
            4.3  แม่พิมพ์พื้นราบ  ( PLANER   PROCESS  )    เป็นการพิมพ์โดยให้สีติดอยู่บนผิวหน้า ที่ราบเรียบของแม่พิมพ์ โดยไม่ต้องขุดหรือแกะพื้นผิวลงไป แต่ใช้สารเคมีเข้าช่วย  ภาพพิมพ์ ชนิดนี้ได้แก่   ภาพพิมพ์หิน  ( LITHOGRAPH )  การพิมพ์ออฟเซท ( OFFSET )  ภาพพิมพ์กระดาษ ( PAPER-CUT )  ภาพพิมพ์ครั้งเดียว  ( MONOPRINT  )
4.4      แม่พิมพ์ฉลุ  ( STENCIL  PROCESS  ) เป็นการพิมพ์โดยให้สีผ่านทะลุช่องของแม่พิมพ์
ลงไปสู่ผลงานที่อยู่ด้านหลัง  เป็นการพิมพ์ชนิดเดียวที่ได้รูปที่มีด้านเดียวกันกับแม่พิมพ์       ไม่กลับซ้ายเป็นขวา ภาพพิมพ์ชนิดนี้ได้แก่ ภาพพิมพ์ฉลุ ( STENCIL )  ภาพพิมพ์ตะแกรงไหม  การพิมพ์อัดสำเนา  ( RONEO )  เป็นต้น
ประยุกต์ศิลป์  คือ  ผลงานศิลปะที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการและสนองความ      จำเป็นด้านประโยชน์ใช้สอยเป็นอันดับแรก  โดยเน้นความงามเป็นอันดับรอง  แบ่งเป็น  4  สาขา  ดังนี้
พาณิชยศิลป์  Commercial  Art
หมายถึง  งาน ศิลป์ต่าง ๆ ที่นำมาดัดแปลงใช้สำหรับกระบวนการในทุกวิถีทางเพื่อชักจูงให้ผู้ชมเกิดความ คล้อยตามหรือสนใจในสินค้าหรือผลงานที่นำมาเพื่อการจำหน่ายหรือแลกเปลี่ยน ต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งในการพยายามตกแต่งทำให้สินค้าเหล่านั้นมีความสวยงามน่าซื้อไป บริโภคได้แก่  การออกแบบเครื่องหมายการค้า การออกแบบสิ่งพิมพ์  การออกแบบโฆษณา  การออกแบบฉลากสินค้า การออกแบบจัดแสดงสินค้า  ฯลฯ ผู้สร้างสรรค์งาน เรียนกว่า นักออกแบบ (Designer)
มัณฑนศิลป์  Decorative  Art
หมายถึง  งานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบหรือการจัดบริเวณบ้าน  อาคาร  ร้านค้า  ต่าง ๆ  ให้สวยงาม  เป็นงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเพื่อการตกแต่ง สิ่งต่าง ๆ ให้เกิดความสวยงามและเหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น  ได้แก่ การจัดตกแต่งภายในบ้าน อาคาร สถานที่ต่าง ๆ   การตกแต่งภายนอก  การจัดสวน  การจัดนิทรรศการ  การจัดบอร์ด ป้ายนิเทศ    การจัดแสดงสินค้า  การแต่งกาย  การแต่งหน้า การตกแต่งร้านค้า เป็นต้น  ผู้สร้างสรรค์งาน เรียนว่า  มัณฑนากร (Decorator)
อุตสาหกรรมศิลป์  Industrial  Art
เป็นผลงานที่นำเอาศิลปะไปช่วยออกแบบเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับหน้าที่ใช้สอยให้ดูสวยงามน่าบริโภค  โดยทำการผลิตออกมาจำนวนมาก  ต้องใช้เครื่องจักรกลและระบบการทำงานของโรงงานเข้ามาช่วยเพื่อลดต้นทุน  และทำให้ผลงานมีรูปแบบรวมทั้งคุณภาพคงที่สม่ำเสมอ
เป็นงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเพื่อการผลิต ผลิตภัณฑ์ (Product)สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้สวยงามและเหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยมากขึ้นด้วยวิธีการในระบบอุตสาหกรรม ซึ่งมีการทำงานเป็นระบบ   เป็นขั้นตอนมีมาตรฐาน   มีการใช้เครื่องจักรกลเข้าช่วย ทำให้ต้นทุนต่ำ   ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆได้แก่   เครื่องยนต์    เครื่องจักรกล    เครื่องใช้ไฟฟ้า     เครื่องอิเลคโทรนิค  เฟอร์นิเจอร์    สุขภัณฑ์   ครุภัณฑ์    เสื้อผ้า    เครื่องประดับ  เครื่องแต่งกาย เครื่องอุปโภค บริโภคต่าง ๆ  ตลอดจนถึงภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ด้วย ผู้สร้างสรรค์งาน เรียกว่า นักออกแบบ (Designer)
หัตถกรรม  Handicraft 
หมายถึง  ผลงานที่จัดทำขึ้นมาโดยไม่ได้อาศัยเครื่องจักรกลมาช่วยหรืออาจนำมาใช้เพียงบางส่วนของขั้นตอนการทำงาน  เป็นผลงานที่มุ่งเน้นประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน  และใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นนั้น ๆ มักเป็นรูปแบบที่ทำกันมาช้านาน  มีลักษณะเป็นงานฝีมือในครัวเรือน  หรือเรียกว่าศิลปะพื้นบ้าน  Folk  Art  ผลงานเหล่านี้มีเสน่ห์อยู่ที่เป็นงานที่ทำด้วยมือ  Handmade  ผลิตออกมา  แต่ละชิ้นมีความแตกต่างกันไป  คุณภาพไม่สม่ำเสมอ  เช่น  ร่มบ่อสร้าง  งานเครื่องปั้นดินเผา  งานจักสาน  การทำเครื่องเงิน
การออกแบบ  Design 
       การออกแบบ  หมายถึง การถ่ายทอดรูปแบบจากความคิดออกมาเป็นผลงาน ที่ผู้อื่นสามารถมองเห็น รับรู้ หรือสัมผัสได้  เพื่อให้มีความเข้าใจในผลงานร่วมกัน ความสำคัญของการออกแบบ มีอยู่หลายประการ กล่าวคือ
1.ในแง่ของการวางแผนการการทำงาน งานออกแบบจะช่วยให้การทำงานเป็นไปตาม ขั้นตอน อย่างเหมาะสม และประหยัดเวลา ดังนั้นอาจถือว่าการออกแบบ คือ การวาง    แผนการทำงานก็ได้
2. ในแง่ของการนำเสนอผลงาน ผลงานออกแบบจะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องมีความเข้าใจ ตรงกันอย่างชัดเจน  ดังนั้น ความสำคัญในด้านนี้ คือ เป็นสื่อความหมายเพื่อความเข้าใจระหว่างกัน
3. เป็นสิ่งที่อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับงาน งานบางประเภทอาจมีรายละเอียดมากมาย   ซับซ้อน ผลงานออกแบบจะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้อง และผู้พบเห็นมีความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้นหรืออาจกล่าวได้ว่า ผลงานออกแบบ คือ ตัวแทนความคิดของผูออกแบบได้ทั้งหมด
4. แบบ จะมีความสำคัญอย่างที่สุด ในกรณีที่ นักออกแบบกับผู้สร้างงานหรือผู้ผลิตเป็นคนละคนกัน เช่น สถาปนิกกับช่างก่อสร้าง  นักออกแบบกับผู้ผลิตในโรงงานหรือถ้าจะเปรียบไปแล้ว นักออกแบบก็เหมือนกับคนเขียนบทละครนั่นเอง
ผลงานจากการออกแบบ เป็นสิ่งที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์และฝีมือของนักออกแบบ แบบมีอยู่หลายลักษณะ ดังนี้ คือ
1. เป็นภาพวาดลายเส้น (drawing) ภาพระบายสี (Painting) ภาพถ่าย (Pictures)หรือแบบร่าง (Sketch) แบบที่มีรายละเอียด (Draft) เช่น แบบก่อสร้าง   ภาพพิมพ์ (Printing) ฯลฯ ภาพต่าง ๆ ใช้แสดงรูปลักษณะของงาน หรือแสดงรายละเอียดต่าง ๆเกี่ยวกับงาน ที่เป็น 2 มิติ
2. เป็นแบบจำลอง (Model) หรือของจริง เป็นแบบอีกประเภทหนึ่งที่ใช้แสดงรายละเอียดของงานได้ชัดเจนกว่าภาพต่าง ๆ เนื่องจากมีลักษณะเป็น 3 มิติ ทำให้ สามารถเข้าใจในผลงานได้ดีกว่า นอกจากนี้ แบบจำลองบางประเภทยังใช้งานได้ เหมือนของจริงอีกด้วยจึงสมารถใช้ในการทดลอง และทดสอบการทำงาน เพื่อหาข้อบกพร่องได้
ประเภทของการออกแบบ
1. การออกแบบทางสถาปัตยกรรม (Architecture Design) เป็นการออกแบบเพื่อการก่อสร้าง สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ นักออกแบบสาขานี้ เรียกว่า สถาปนิก (Architect) ซึ่งโดยทั่วไปจะต้องทำงานร่วมกับ วิศวกรและมัณฑนากร โดยสถาปนิก รับผิดชอบเกี่ยวกับประโยชน์ใช้สอยและความงามของสิ่งก่อสร้าง งานทางสถาปัยตกรรมได้แก่
- สถาปัตยกรรมทั่วไป เป็นการออกแบบสิ่งก่อสร้างทั่วไป เช่น อาคาร บ้านเรือน ร้านค้า  โบสถ์  วิหาร  
- สถาปัตยกรรมโครงสร้าง เป็นการออกแบบเฉพาะโครงสร้างหลักของอาคาร
- สถาปัตยกรรมภายใน  เป็นการออกแบบที่ต่อเนื่องจากงานโครงสร้าง ที่เป็นส่วนประกอบของอาคาร
- งานออกแบบภูมิทัศน์ เป็นการออกแบบที่มีบริเวณกว้างขวาง  เป็นการจัดบริเวณพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยและความสวยงาม
- งานออกแบบผังเมือง เป็นการออกแบบที่มีขนาดใหญ่ และมีองค์ประกอบซับซ้อน ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มอาคารจำนวนมาก ระบบภูมิทัศน์ ระบบสาธารณูปโภค ฯลฯ
2. การออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) เป็นการออกแบบเพื่อการผลิต ผลิตภัณฑ์
ชนิดต่าง ๆงานออกแบบสาขานี้ มีขอบเขตกว้างขวางมากที่สุด และแบ่งออกได้มากมายหลาย ๆ ลักษณะ นักออกแบบรับผิดชอบเกี่ยวกับประโยชน์ใช้สอยและความสวยงามของผลิตภัณฑ์  งานออกแบบประเภทนี้ได้แก่   งานออกแบบเฟอร์นิเจอร์  งานออกแบบครุภัณฑ์  งานออกแบบเครื่องสุขภัณฑ์  งานออกแบบเครื่องใช้สอยต่างๆ  งานออกแบบเครื่องประดับ  อัญมณี  งานออกแบบเครื่องแต่งกาย งานออกแบบภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์  งานออกแบบผลิตเครื่องมือต่าง ๆ   ฯลฯ 
3. การออกแบบทางวิศวกรรม (Engineering Design) เป็นการออกแบบเพื่อการผลิต ผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ เช่นเดียวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกัน ต้องใช้ความรู้ความสามารถและเทคโนโลยีในการผลิตสูง ผู้ออกแบบคือ วิศวกร ซึ่งจะรับผิดชอบ ในเรื่องของประโยชน์ใช้สอย ความปลอดภัยและ กรรมวิธีในการผลิต  บางอย่างต้องทำงาน ร่วมกันกับนักออกแบบสาขาต่าง ๆ ด้วย งานอกแบบประเภทนี้ได้แก่  งานออกแบบเครื่องใช้ไฟฟ้า  งานออกแบบเครื่องยนต์  งานออกแบบเครื่องจักรกล  งานออกแบบเครื่องมือสื่อสาร  งานออกแบบอุปกณ์อิเลคทรอนิคส์ต่าง ๆ   ฯลฯ
4. การออกแบบตกแต่ง (Decorative Design) เป็นการออกแบบเพื่อการตกแต่งสิ่งต่าง ๆ
ให้สวยงามและเหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น นักออกแบบเรียนว่า มัณฑนากร (Decorator) ซึ่งมักทำงานร่วมกับสถาปนิก งานออกแบบประเภทนี้ได้แก่  งานตกแต่งภายใน (Interior Design)  งานตกแต่งภายนอก  (Exterior Design)  งานจัดสวนและบริเวณ ( Landscape Design)  งานตกแต่งมุมแสดงสินค้า (Display)  การจัดนิทรรศการ (Exhibition)  การจัดบอร์ด  การตกแต่งบนผิวหน้าของสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น  ฯลฯ
            5. การออกแบบสิ่งพิมพ์ (Graphic Design) เป็นการออกแบบเพื่อทางผลิตงานสิ่งพิมพ์ ชนิดต่าง ๆ ได้แก่ หนังสือ  หนังสือพิมพ์  โปสเตอร์  นามบัตร  บัตรต่าง ๆ  งานพิมพ์ลวดลายผ้า      งานพิมพ์ภาพลงบนสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ  งานออกแบบรูปสัญลักษณ์   เครื่องหมายการค้า  ฯลฯ
หลักของศิลปะ  (Principle  of  Art)
            การสร้างงานศิลปะ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาทัศนศิลป์  (Visual  Art)  นั้น  ต้องอาศัยหลักการและองค์ประกอบหลายอย่าง  ซึ่งอาจอธิบายรายละเอียดได้ดังนี้
            องค์ประกอบของศิลปะ  (Elements  of  Art)
            งานศิลปะสาขาทัศนศิลป์  (Visual  Art)  มีองค์ประกอบที่สำคัญต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย
1.       เส้น  (Line)
2.       รูป  (Figure)
3.       มวลและปริมาตร  (Mass  and  Volume)
4.       ลักษณะพื้นผิว  (Texture)
5.       บริเวณว่างหรือช่วงระยะ  (Space)
6.       แสงและเงา  (Light  &  Shade)
7.       สี  (Color)
1.       เส้น  (Line)
หมายถึง  สิ่งที่ลากจากจุดเริ่มต้น  ไปยังจุดที่กำหนดไว้  อาจมีลักษณะบางหนา  ตรง  หยัก  หรือคดโค้ง  เส้นเป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดเป็นภาพ  และเรื่องราวต่าง ๆ ตามมา  รวมทั้งสามารถใช้ตกแต่งทำภาพให้สวยงามอ่อนช้อยและสมบูรณ์ขึ้นไปกว่าเดิมอีกด้วย  เส้น คือ ร่องรอยที่เกิดจากเคลื่อนที่ของจุด  หรือถ้าเรานำจุดมาวางเรียงต่อ ๆ กันไป   เส้นมีมิติเดียว  คือ  ความยาว ไม่มีความกว้าง ทำหน้าที่เป็นขอบเขต   ของที่ว่าง รูปร่าง รูปทรง น้ำหนัก  สี   ตลอดจนกลุ่มรูปทรงต่าง ๆ  รวมทั้งเป็นแกนหรือ   โครงสร้างของรูปร่างรูปทรง      เส้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญของงานศิลปะทุกชนิด เส้นสามารถให้ความหมาย แสดง ความรู้สึก และอารมณ์ได้ด้วยตัวเอง และด้วยการสร้างเป็นรูปทรงต่าง ๆ ขึ้น  เส้นมี 2   ลักษณะคือ เส้นตรง   (Straight Line) และ เส้นโค้ง   (Curve Line)  เส้นทั้งสองชนิดนี้ เมื่อนำมาจัดวางในลักษณะต่าง ๆ กัน จะมีชื่อเรียกต่าง ๆ และให้ความหมาย ความรู้สึก  ที่แตกต่างกันอีกด้วย
ชนิดของเส้นมีหลายชนิด  และให้ความรู้สึกแตกต่างกันออกไป  ดังนี้
เส้นตั้งหรือเส้นดิ่ง   มีลักษณะตั้งฉากกับพื้นให้ความรู้สึกสูงสง่า  มั่นคง  แต่ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกเคยและรู้สึกผอมบางได้อีกด้วย
เส้นนอน  มีลักษณะขนานกับพื้น  ให้ความรู้สึกราบเรียบ  นิ่งเฉย  พักผ่อน  ความกว้าง  ความรู้สึกว่าเป็นฐาน
เส้นเฉียง  เป็นเส้นที่ไม่ขนานหรือตั้งฉากกับพื้น  มักให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว  พุ่งออกไป  มีชีวิตชีวา  ช่วยพยุงหรือค้ำยัน
เส้นซิกแซก  เป็นเส้นเฉียงสลับไปมา  คล้ายฟันเลื่อย  ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง  เช่น  คลื่นรังสีต่าง ๆ หรือทำให้รู้สึกเป็นระเบียบทันสมัย
เส้นโค้ง  เป็นเส้น  โค้งสลับขึ้นลงคล้ายเกลียวคลื่น  ให้ความรู้สึก เคลื่อนไหวอย่างนุ่มนวล  สม่ำเสมอ  อ่อนหวาน
เส้นหยัก  เป็นเส้นคดโค้งสอดประสานไปมาไม่เป็นระเบียบ  ให้ความรู้สึกยุ่งเหยิง  มีอันตราย  ตื่นเต้น  ลึกลับ
ความสำคัญของเส้น
    1. ใช้ในการแบ่งที่ว่างออกเป็นส่วน ๆ
    2. กำหนดขอบเขตของที่ว่าง หมายถึง  ทำให้เกิดเป็นรูปร่าง (Shape) ขึ้นมา
    3. กำหนดเส้นรอบนอกของรูปทรง ทำให้มองเห็นรูปทรง (Form) ชัดขึ้น
    4. ทำหน้าที่เป็นน้ำหนักอ่อนแก่ ของแสดงและเงา หมายถึง การแรเงาด้วยเส้น
    5. ให้ความรู้สึกด้วยการเป็นแกนหรือโครงสร้างของรูป และโครงสร้างของภาพ
2.       รูป  (Figure)  แบ่งออกเป็น
1)      รูปร่าง  (Shape)  หมายถึงรูปแบบ  2  มิติ  มีแต่ด้านกว้างกับด้านยาว  ลักษณะแบนราบเรียบ
2)      รูปทรง  (From)  หมายถึง  รูป  3  มิติ  มีด้านกว้าง  ด้านยาว  และมีด้านสูง  หรือหนา  เพิ่มขึ้นมาอีก  อาจนูนหรือเว้าเข้าไปได้
รูปร่างและรูปทรง ศิลปะมี 3 ลักษณะคือ
            รูปเรขาคณิต (Geometric Form) มีรูปที่แน่นอน มาตรฐาน สามารถวัดหรือ   คำนวณได้ง่าย มีกฎเกณฑ์ เกิดจากการสร้างของมนุษย์ เช่น รูปสี่เหลี่ยม   รูปวงกลม รูปวงรี นอกจากนี้ยังรวมถึงรูปทรงของสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์คิดค้น  ขึ้นอย่างมีแบบแผน  แน่นอน  เช่น รถยนต์   เครื่องจักรกล   เครื่องบิน สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ    ที่ผลิตโดยระบบอุตสาหกรรม ก็จัดเป็นรูปเรขาคณิต   เช่นกัน รูปเรขาคณิตเป็นรูป  ที่ให้โครงสร้างพื้นฐานของรูปต่าง ๆ ดังนั้น  การสร้างสรรค์รูปอื่น ๆ   ควรศึกษารูปเรขาคณิตให้เข้าใจถ่องแท้เสียก่อน
รูปอินทรีย์ (Organic Form) เป็นรูปของสิ่งที่มีชีวิต หรือ คล้ายกับสิ่งมีชีวิต  ที่สามารถ  เจริญเติบโต  เคลื่อนไหว หรือเปลี่ยนแปลงรูปได้  เช่น   รูปของคน  สัตว์  พืช
รูปอิสระ (Free Form) เป็นรูปที่ไม่ใช่แบบเรขาคณิต หรือแบบอินทรีย์     แต่เกิดขึ้นอย่างอิสระ ไม่มีโครงสร้างที่แน่นอน ซึ่งเป็นไปตามอิทธิพล   และการกระทำจากสิ่งแวดล้อม  เช่น รูปก้อนเมฆ  ก้อนหิน  หยดน้ำ ควัน   ซึ่งให้ความรู้สึกที่เคลื่อนไหว มีพลัง รูปอิสระจะมีลักษณะ ขัดแย้งกับ   รูปเรขาคณิต แต่กลมกลืน กับรูปอินทรีย์  รูปอิสระอาจเกิดจากรูปเรขาคณิต   หรือรูปอินทรีย์ ที่ถูกกระทำ   จนมีรูปลักษณะเปลี่ยนไปจากเดิมจน   ไม่เหลือสภาพ เช่น รถยนต์ที่ถูกชนจนยับเยินทั้งคัน  เครื่องบินตก    ตอไม้ที่ถูกเผาทำลาย หรือซากสัตว์ที่เน่าเปื่อยผุพัง 
รูปทรงอิสระ  มีวิธีการสร้างรูปทรงอยู่  2  วิธีการคือ
รูปทรงปิด (Closed  From) คือ รูปทรงที่มีเส้นรอบนอก ปิดตลอด ไม่มีช่องว่างเปิดออกไปได้
รูปทรงเปิด  (Opened  From) เป็นรูปทรงที่มีเส้นรอบนอกไว้บางแห่ง  หรือเปิดให้มีช่องว่างให้ผู้ชมได้เกิดความรู้สึกว่าได้เข้าไปสู่ภายในรูปหรืออกไปนอกรูปได้         
ความสัมพันธ์ระหว่างรูปทรง
            เมื่อนำรูปทรงหลาย ๆ รูปมาวางใกล้กัน  รูปเหล่านั้นจะมีความสัมพันธ์ดึงดูด  หรือผลักไส   ซึ่งกันและกัน  การประกอบกันของรูปทรง อาจทำได้โดย ใช้รูปทรงที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน   รูปทรงที่ต่อเนื่องกัน รูปทรงที่ซ้อนกัน รูปทรงที่ผนึกเข้าด้วยกัน รูปทรงที่แทรกเข้าหากัน   รูปทรงที่สานเข้าด้วยกัน หรือ รูปทรงที่บิดพันกัน      การนำรูปเรขาคณิต รูปอินทรีย์ และรูป   อิสระมาประกอบเข้าด้วยกัน จะได้รูปลักษณะใหม่ ๆ อย่างไม่สิ้นสุด
3.       มวลและปริมาตร  (Mass  and  Volume)
หมายถึง  การรวมตัวของเส้นและรูปทรงต่างเข้าด้วยกันเป็นกลุ่ม  ทำให้ดูเป็นหมวดหมู่ดูแล้วมีน้ำหนัก  เกิดความรู้สึกหนักแน่น  ทึบตัน  เช่น  การมองดูตึกแถวข้างถนน  ซึ่งมีเส้นและรูปร่าง  รวมทั้งขนาดต่างๆกันทำให้ภาพรวมดูแน่นหนาเป็นปึกแผ่นเป็นต้น
4.       ลักษณะพื้นผิว  (Texture)
หมายถึง  ส่วนที่อยู่ชั้นนอกสุดของวัตถุที่จะนำมาสร้างงานศิลปะ  ซึ่งอาจจะเป็นผิวของวัตถุจริงหรือสร้างขึ้นให้ดูมีลักษณะเรียบ  มัน  ด้าน  ขรุขระ  ซึ่งอาจทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกคล้อยตามเรื่องราว  ที่ศิลปินที่ต้องการแสดงออก  ลักษณะที่สัมผัสได้ของพื้นผิว มี  2  ประเภท คือ
1. พื้นผิวที่สัมผัสได้ด้วยมือ หรือกายสัมผัส เป็นลักษณะพื้นผิวที่เป็นอยู่จริง ๆ ของ ผิวหน้าของวัสดุนั้น ๆ   ซึ่งสามารถสัมผัสได้จากงานประติมากรรม งานสถาปัตกรรม  และสิ่งประดิษฐ์อื่น
2. พื้นผิวที่สัมผัสได้ด้วยสายตา จากการมองเห็นแต่ไม่ใช่ลักษณะที่แท้จริงของผิว  วัสดุนั้น ๆ เช่น การวาดภาพก้อนหินบนกระดาษ   จะให้ความรู้สึกเป็นก้อนหินแต่  มือสัมผัสเป็นกระดาษ  หรือใช้กระดาษพิมพ์ลายไม้ หรือลายหินอ่อน  เพื่อปะทับบนผิวหน้าของสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น ลักษณะเช่นนี้ถือว่า    เป็นการสร้างพื้นผิวลวงตาให้สัมผัสได้ด้วยการมองเห็นเท่านั้น
พื้นผิวลักษณะต่าง ๆ จะให้ความรู้สึกต่องานศิลปะที่แตกต่างกัน พื้นผิวหยาบจะ  ให้ความรู้สึกกระตุ้นประสาท หนักแน่น มั่นคง แข็งแรง ถาวร    ในขณะที่ผิวเรียบ  จะให้ความรู้สึกเบา สบาย การใช้ลักษณะของพื้นผิวที่แตกต่างกัน  เห็นได้ชัดเจน  จากงานประติมากรรม และมากที่สุดในงานสถาปัตยกรรมซึ่งมีการรวมเอาลักษณะ  ต่าง ๆ กันของพื้นผิววัสดุหลาย ๆ อย่าง   เช่น อิฐ  ไม้ โลหะ  กระจก  คอนกรีต หิน  ซึ่งมีความขัดแย้งกันแต่สถาปนิกได้นำมาผสมกลมกลืนได้อย่างเหมาะสม ลงตัวจนเกิดความสวยงาม
5.       บริเวณที่ว่างหรือช่วงระยะ  (Space)
บางครั้งนิยมเรียกว่า  ช่องไฟ  ซึ่งการที่จะมีบริเวณว่างเกิดขึ้นนั้นต้องมีบริเวณส่วนที่กำหนดให้เป็นรูป  (Figure)  และบริเวณส่วนที่กำหนดให้เป็นพื้น  (Ground)  เสียก่อน  ดังนั้นถ้าส่วนใหญ่เป็นรูปส่วนที่เหลือย่อมเป็นพื้น  และส่วนพื้นนั้นเองเรียกว่า  บริเวณว่าง  (Space)  ซึ่งจะต้องออกแบบให้มีความพอดี  มีจังหวะช่วงห่างต่าง ๆ อย่างลงตัว  ไม่ชิดหรือห่างจนเกินไป  บริเวณว่างเหล่านี้  อาจทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึก  สบาย  อึดอัด  หรือรู้สึกใกล้  ไกล  ตื้น  ลึก  ไปด้วย

6.       แสงและเงา  (Light  &  Shade)
แสงและเงา (Light & Shade) เป็นองค์ประกอบของศิลป์ที่อยู่คู่กันแสง เมื่อส่องกระทบ กับวัตถุ จะทำให้เกิดเงา   แสงและเงา เป็นตัวกำหนดระดับของค่าน้ำหนัก  ความเข้มของเงาจะขึ้นอยู่ กับความเข้มของเแสง  ในที่ที่มีแสงสว่างมาก เงาจะเข้มขึ้น   และในที่ที่มีแสงสว่างน้อย เงาจะไม่ชัดเจน ในที่ที่ไม่มีแสงสว่าง จะไม่มีเงา และเงาจะอยู่ในทางตรงข้ามกับแสงเสมอ  ค่าน้ำหนัก  ของแสงและเงาที่เกิดบนวัตถุ     สามารถจำแนกเป็นลักษณะที่  ต่าง ๆ ได้ดังนี้
1. บริเวณแสงสว่างจัด  (Hi-light)  เป็นบริเวณที่อยู่ใกล้แหล่งกำเนิดแสงมากที่สุด   จะมีความสว่างมากที่สุด ในวัตถุที่มีผิวมันวาวจะสะท้อนแหล่งกำเนิดแสงออกมาให้เห็นได้ชัด
2. บริเวณแสงสว่าง  (Light) เป็นบริเวณที่ได้รับแสงสว่าง รองลงมาจากบริเวณแสงสว่างจัด เนื่องจากอยู่ห่างจากแหล่งกำเนิดแสงออกมา และเริ่มมีค่าน้ำหนักอ่อน ๆ
3. บริเวณเงา (Shade)  เป็นบริเวณที่ไม่ได้รับแสงสว่าง     หรือเป็นบริเวณที่ถูกบดบังจากแสงสว่าง ซึ่งจะมีค่าน้ำหนักเข้มมากขึ้นกว่าบริเวณแสงสว่าง
4. บริเวณเงาเข้มจัด (Hi-Shade) เป็นบริเวณที่อยู่ห่างจากแหล่งกำเนิดแสงมากที่สุด  หรือ  เป็นบริเวณที่ถูกบดบังมาก ๆ หลาย ๆ ชั้น จะมีค่าน้ำหนักที่เข้มมากไปจนถึงเข้มที่สุด
5. บริเวณเงาตกทอด เป็นบริเวณของพื้นหลังที่เงาของวัตถุทาบลงไป เป็นบริเวณเงาที่อยู่ ภายนอกวัตถุ และจะมีความเข้มของค่าน้ำหนักขึ้นอยู่กับ ความเข้มของเงา น้ำหนักของพื้นหลัง ทิศทางและระยะของเงา
ความสำคัญของค่าน้ำหนัก (Value)
คือ   ค่าความอ่อนแก่ของบริเวณที่ถูกแสงสว่าง และบริเวณที่เป็นเงาของวัตถุหรือ ความอ่อน- ความเข้มของสีหนึ่ง ๆ หรือหลายสี เช่น สีแดง มีความเข้มกว่าสีชมพู   หรือ  สีแดงอ่อนกว่าสีน้ำเงิน  เป็นต้นนอกจากนี้ยังหมายถึงระดับความเข้มของแสงและระดับ ความมืดของเงา ซึ่งไล่เรียงจากมืดที่สุด (สีดำ)ไปจนถึงสว่างที่สุด (สีขาว)น้ำหนักที่อยู่ระหว่างกลางจะเป็นสีเทา ซึ่งมีตั้งแต่เทาแก่ที่สุด จนถึงเทาอ่อนที่สุด    การใช้ค่าน้ำหนักจะทำให้ภาพดูเหมือนจริง และมีความกลมกลืน ถ้าใช้ค่าน้ำหนักหลาย ๆ  ระดับจะทำให้มีความกลมกลืนมากยิ่งขึ้น และถ้าใช้ค่าน้ำหนักจำนวนน้อยที่แตกต่างกันมากจะทำให้เกิด ความแตกต่าง ความขัดแย้งการออกแบบให้มีลักษณะของแสงตกกระทบและมีเงาเกิดขึ้น  ในตัวงานศิลปะนั้นนอกจากจะทำให้ผลงานดูเด่นขึ้น  ดูมีระยะตื้นลึกอยู่ในตัวแล้วยังทำให้งานศิลปะบางประเภท  เช่น  งานจิตรกรรมหรืองานประติมากรรมดูสวยงาม  เหมือนจริง  ผู้ชมสามารถชื่นชมและเข้าใจงานศิลปะนั้น ๆ ได้ดียิ่งขึ้นและเงาจะช่วยสร้างบรรยากาศในภาพ  หรืองานศิลปะต่าง ๆ ได้ตามที่ศิลปินปรารถนา
    1. ให้ความแตกต่างระหว่างรูปและพื้น หรือรูปทรงกับที่ว่าง
    2. ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว
    3. ให้ความรู้สึกเป็น 2 มิติ แก่รูปร่าง และความเป็น 3 มิติแก่รูปทรง
    4. ทำให้เกิดระยะความตื้น - ลึก และระยะไกล้ - ไกลของภาพ
    5. ทำให้เกิดความกลมกลืนประสานกันของภาพ
7.       สี  (Color)         
นับเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างงานศิลปะ  สีจะทำให้ผลงานที่สำเร็จแล้ว  มีความสวยงาม  เด่น  สะดุดตา  และสร้างจินตนาการ  ให้ผู้ชมรู้สึกว่าเป็นของจริง  เป็นการสร้างบรรยากาศ  และจินตนาการให้เรื่องราวในการเขียนดูคล้ายเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง  นอกจากนั้นยังช่วยปกปิดผิววัสดุที่ไม่ต้องการจะแสดงให้ผู้ชมเห็นอีกด้วย

หลักการออกแบบ  (Principles  of  Design)
            การจัดองค์ประกอบทางศิลปะ  เป็น หลักสำคัญสำหรับผู้สร้างสรรค์ และผู้ศึกษางานศิลปะ  เนื่องจากผลงานศิลปะใด ๆ ก็ตาม ล้วนมีคุณค่าอยู่  2  ประการ คือ คุณค่าทางด้านรูปทรง และ คุณค่าทางด้านเรื่องราว   คุณค่าทางด้านรูปทรง เกิดจากการนำเอา องค์ประกอบต่าง ๆ    ของ ศิลปะ อันได้แก่  เส้น  สี  แสงและเงา  รูปร่าง  รูปทรง  พื้นผิว  ฯลฯ มาจัดเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดความงาม  ซึ่งแนวทางในการนำองค์ประกอบต่าง ๆ มาจัดรวมกันนั้นเรียกว่า การจัดองค์ ประกอบศิลป์ (Art Composition) โดยมีหลักการจัดตามที่จะกล่าวต่อไป อีกคุณค่าหนึ่งของงานศิลปะ คือ คุณค่าทางด้านเนื้อหา เป็นเรื่องราว หรือสาระของผลงานที่ศิลปินผู้สร้าง สรรค์ต้องการที่จะแสดงออกมา ให้ผู้ชมได้สัมผัส รับรู้  โดยอาศัยรูปลักษณะที่เกิดจากการจัดองค์ประกอบศิลป์นั่นเองหรืออาจกล่าวได้ว่า ศิลปิน นำเสนอเนื้อหาเรื่องราวผ่านรูปลักษณะที่เกิดจากการจัดองค์ประกอบทางศิลปะ  ถ้าองค์ประกอบที่จัดขึ้น ไม่สัมพันธ์กับเนื้อหาเรื่องราวที่นำเสนอ งานศิลปะนั้นก็จะขาดคุณค่าทางความงามไป  ดังนั้นการจัดองค์ประกอบศิลป์   จึงมีความสำคัญในการสร้างสรรค์งานศิลปะเป็นอย่างยิ่ง
เพราะจะทำให้งานศิลปะทรงคุณค่าทางความงามอย่างสมบูรณ์    หลักการออกแบบหรือบางทีเรียกว่า  หลักของศิลปะหรือหลักของการจัดภาพ  เป็นวิธีการนำเอาองค์ประกอบของศิลปะ  มาจัดทำหรือหาทางทำให้เกิดผลงานที่สวยงาม  โดยอาศัยองค์ประกอบของศิลปะดังกล่าวมาแล้ว  ซึ่งมีหลักสำคัญ  ดังนี้
ความเป็นเอกภาพ  (Unity)
เอกภาพ  หมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขององค์ประกอบศิลป์ทั้งด้านรูปลักษณะ  และด้านเนื้อหาเรื่องราว  เป็นการประสานหรือจัดระเบียบของส่วนต่าง ๆให้เกิดความเป็น หนึ่งเดียว เพื่อผลรวมอันไม่อาจแบ่งแยกส่วนใดส่วนหนึ่งออกไป
    การสร้างงานศิลปะ คือ  การสร้างเอกภาพขึ้นจากความสับสน  ความยุ่งเหยิง  เป็นการจัดระเบียบ และดุลยภาพ ให้แก่สิ่งที่ขัดแย้งกันเพื่อให้รวมตัวกันได้ โดยการเชื่อมโยงส่วนต่าง ๆให้สัมพันธ์กันเอกภาพของงานศิลปะ มีอยู่  2 ประการ คือ
1. เอกภาพของการแสดงออก หมายถึง การแสดงออกทีมีจุดมุ่งหมายเดียว      แน่นอน และมี ความเรียบง่าย  งานชิ้นเดียวจะแสดงออกหลายความคิด หลายอารมณ์ไม่ได้จะทำให้สับสนขาดเอกภาพ  และการแสดงออกด้วยลักษณะเฉพาตัวของศิลปินแต่ละคน ก็สามารถทำให้เกิดเอกภาพแก่ผลงานได้
2. เอกภาพของรูปทรง คือ การรวมตัวกันอย่างมีดุลยภาพ และมีระเบียบขององค์ประกอบทางศิลปะ เพื่อให้เกิดเป็นรูปทรงหนึ่ง ที่สามารถแสดงความคิดเห็นหรืออารมณ์ของศิลปินออกได้อย่างชัดเจน เอกภาพของรูปทรง เป็นบางทีเรียกว่าความเป็นหน่วย  คือ  การจัดให้ส่วนประกอบในภาพหรือในงานศิลปะ   นั้น ๆ มีความสัมพันธ์กันเป็นกลุ่มก้อน  ไม่กระจัดกระจาย  ไม่ให้ดูแล้วขัดตา  เช่น  ถ้าใช้สีก็ควรจะให้เป็นกลุ่มเดียวกันหรือในการออกแบบรูปทรงก็ให้ดูมีลักษณะที่เข้ากันไม่รู้สึกว่าขัดกันจนเกินไป
ความสมดุล  (Balance)
ความหมายของความสมดุล  คือ  ความเท่ากัน  นั่นเอง  ความเท่ากันในองค์ประกอบของการจัดภาพนั้น  หมายถึง  การจัดให้ภาพมีน้ำหนักเฉลี่ยเท่า ๆ กันทั้งภาพ  เมื่อแบ่งภาพด้วยสายตาแล้วไม่ขัดตา  หรือมีน้ำหนักไปข้างใดข้างหนึ่ง  ซึ่งมีหลักการจัด  3  ประเภท  คือ
1.     สมดุลแบบซ้ายขวาเหมือนกัน  (Symmetrical  Balance)  เป็นการสมดุลที่มีการจัดภาพให้ส่วนประกอบ  2  ข้างคล้ายกัน
2.    สมดุลแบบซ้ายขวาไม่เหมือนกัน  (Asymmetrical  Balance)  คือ  การจัดภาพอาจมีบางส่วนประกอบด้านรูปร่างหรือสีไม่เหมือนกัน
3.    สมดุลแบบแกนกลาง  (Axial  Balance)  เป็นวิธีการสร้างความสมดุลโดยการสร้างภาพที่เริ่มต้นจากศูนย์กลาง  แล้วจัดภาพให้แตกกระจายออกไปรอบ ๆ คล้ายรัศมี
        
2.       ความกลมกลืนและความตัดกัน  (Harmony  and  Contrast)
การจัดองค์ประกอบของศิลปะหรือการจัดภาพนั้นควรจัดให้มีความเข้ากันได้หรือกลมกลืนกันเป็นอย่างดี  คล้ายกับการจัดให้มีเอกภาพนั่นเอง  แต่ความกลมกลืนนั้นถ้าไม่มีความขัดแย้งกันมาแทรกเลยก็จะดูราบเรียบจนเกินไป  ทำให้ภาพไม่น่าสนใจจึงต้องทำให้มีขนาดแตกต่างกันออกไปบ้าง  เพื่อให้เกิดการขัดแย้งเหมือนการเล่นดนตรี  ถ้าทำนองคล้ายกัน  ไปตลอดก็ไม่น่าสนใจ  อาจต้องมีการเล่นขัดจังหวะมาแทรกเป็นช่วง ๆ เป็นต้น
3.       สัดส่วน  (Proportion)
สัดส่วน หมายถึง  ความสัมพันธ์กันอย่างเหมาะสมระหว่างช่วงว่าง  รูปร่าง  รูปทรง  ขนาด  พื้นผิวต่าง ๆ รวมถึงสีที่นำมาใช้จัดภาพซึ่งต้องมีความพอดี   ขององค์ประกอบที่แตกต่างกัน ทั้งขนาดที่อยู่ในรูปทรงเดียวกันหรือระหว่างรูปทรง และรวมถึง ความสัมพันธ์กลมกลืนระหว่างองค์ประกอบทั้งหลายด้วย     ซึ่งเป็นความพอเหมาะพอดี ไม่ มากไม่น้อย ขององค์ประกอบทั้งหลายที่นำมาจัดรวมกัน สัดส่วนของรูปและพื้นต้องไม่ขัดกันเกินไป  เช่น  ในพื้นที่ประมาณ  100%  ของภาพนั้น ๆ โดยมากนิยมแบ่งออกเป็นส่วนของรูปและพื้น  จากนั้นกำหนดให้เป็นส่วนของรู)หรือจุดเด่นประมาณ  20%  -  30%  และที่เหลือเป็นพื้นหรือเป็นส่วนสำคัญรองลงมา   ความเหมาะสมของสัดส่วนอาจ พิจารณาจากคุณลักษณะดังต่อไปนี้
 1.1  สัดส่วนที่เป็นมาตรฐาน จากรูปลักษณะตามธรรมชาต ของ คน สัตว์  พืช ซึ่งโดยทั่วไป ถือว่า สัดส่วนตามธรรมชาติ  จะมีความงามที่เหมาะสมที่สุด      หรือจากรูปลักษณะที่เป็นการ สร้างสรรค์ของมนุษย์ เช่น Gold section เป็นกฎในการสร้างสรรค์รูปทรงของกรีก ซึ่งถือว่า "ส่วนเล็กสัมพันธ์กับส่วนที่ใหญ่กว่า  ส่วนที่ใหญ่กว่าสัมพันธ์กับส่วนรวม"  ทำให้สิ่งต่าง ๆ  ที่สร้างขึ้นมีสัดส่วนที่สัมพันธ์กับทุกสิ่งอย่างลงตัว
1.2  สัดส่วนจากความรู้สึก    โดยที่ศิลปะนั้นไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อความงามของรูปทรงเพียง อย่างเดียว แต่ยังสร้างขึ้นเพื่อแสดงออกถึง  เนื้อหา เรื่องราว ความรู้สึกด้วย  สัดส่วนจะช่วย เน้นอารมณ์ ความรู้สึก ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และเรื่องราวที่ศิลปินต้องการ ลักษณะเช่น นี้ ทำให้งานศิลปะของชนชาติต่าง ๆ มีลักษณะแตกต่างกัน เนื่องจากมีเรื่องราว อารมณ์ และ ความรู้สึกที่ต้องการแสดงออกต่าง ๆ กันไป เช่น   กรีก    นิยมในความงามตามธรรมชาติเป็นอุดมคติ เน้นความงามที่เกิดจากการประสานกลมกลืนของรูปทรง    จึงแสดงถึงความเหมือน จริงตามธรรมชาติ ส่วนศิลปะแอฟริกันดั้งเดิม เน้นที่ความรู้สึกทางวิญญานที่น่ากลัว ดังนั้น รูปลักษณะจึงมีสัดส่วนที่ผิดแผกแตกต่างไปจากธรรมชาติทั่วไป  
4.       จังหวะ  (Rhythm)
ช่วงจังหวะหรือลีลา  หมายถึง  การเคลื่อนไหวที่เกิดจาการซ้ำกันขององค์ประกอบ เป็นการซ้ำที่เป็นระเบียบ จากระเบียบธรรมดาที่มีช่วงห่างเท่าๆ กัน มาเป็นระเบียบที่สูงขึ้น ซับซ้อนขึ้นจนถึงขั้นเกิดเป็นรูปลักษณะของศิลปะ  โดยเกิดจาก การซ้ำของหน่วย หรือการสลับกันของหน่วยกับช่องไฟ   หรือเกิดจาก การเลื่อนไหลต่อเนื่องกันของเส้น สี รูปทรง หรือ น้ำหนักเป็นลักษณะการจัดวางส่วนประกอบของภาพให้มีระยะพอดี  ดูแล้วเกิดความเคลื่อนไหวขึ้นในภาพนั้น ๆ ทำให้ภาพดูมีชีวิตชีวา  เกิดบรรยากาศและจินตนาการสมจริงขึ้นได้  การจัดให้มีจังหวะนั้น  สามารถทำได้หลายประการ  เช่น
-         การจัดให้มีองค์ประกอบซ้ำ ๆ กัน  (Repetition  Rhythm)
-         การจัดให้มีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน  แต่ให้เชื่อมโยงต่อเนื่องกัน  (Progressive  and  Continuity)
รูปแบบๆ หนึ่ง อาจเรียกว่าแม่ลาย  การนำแม่ลายมาจัดวางซ้ำ ๆ   กันทำให้เกิดจังหวะ   และถ้าจัดจังหวะให้แตกต่างกันออกไป ด้วยการเว้นช่วง หรือสลับช่วง ก็จะเกิดลวดลาย   ที่แตกต่างกันออกไป ได้อย่างมากมาย  แต่จังหวะของลายเป็นจังหวะอย่างง่าย ๆ ให้ความ   รู้สึกเพียงผิวเผิน และเบื่อง่าย เนื่องจากขาดความหมาย เป็นการรวมตัวของสิ่งที่เหมือนกัน   แต่ไม่มีความหมายในตัวเอง จังหวะที่น่าสนใจและมีชีวิต ได้แก่ การเคลื่อนไหวของ คน   สัตว์  การเติบโตของพืช  การเต้นรำ เป็นการเคลื่อนไหวของโครงสร้างที่ให้ความบันดาล   ใจในการสร้างรูปทรงที่มีความหมาย
เนื่องจากจังหวะของลายนั้น ซ้ำตัวเองอยู่ตลอดไปไม่มีวันจบ และมีแบบรูปของการซ้ำ ที่ตายตัว  แต่งานศิลปะแต่ละชิ้นจะต้องจบลงอย่างสมบูรณ์ และมีความหมายในตัว งานศิลปะทุกชิ้นมีกฎเกณฑ์และระเบียบที่ซ่อนลึกอยู่ภายใน   ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนงานชิ้นใดที่แสดงระเบียบกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเกินไป งานชิ้นนั้นก็จะจำกัดตัวเอง ไม่ต่างอะไรกับลวดลายที่มองเห็นได้ง่าย ไม่มีความหมาย ให้ผลเพียงความเพลิดเพลินสบายตาแก่ผู้ชม
 5.       การสร้างให้เกิดจุดเด่น(Emphasis/Dominance)หรือจุดสนใจ (Point of Interest)
หมายถึง  การสร้างจุดที่น่าสนใจที่สุดในภาพขึ้นมานั่นเอง  เพราะในการจัดภาพนั้น  ถ้าหากไม่มีการเน้นจุดเด่นเลยหรือสร้างจุดเด่นหลายจุดเกินไปหมด     ดังนั้นการสร้างจุดเด่นที่ว่านี้  ควรสร้างให้มีเพียงจุดเดียว  ไม่ควรให้อยู่บริเวณขอบภาพด้านใดด้านหนึ่งจนเกินไป  และไม่จำเป็นต้องอยู่บริเวณจุดกึ่งกลางภาพเสมอไปด้วย  ทั้งนี้การสร้างจุดเด่นอาจจะทำได้หลายลักษณะเช่นเน้นให้เด่นด้วยขนาด  รูปร่างแสง  เงา  สี  หรือเรื่องราว  เป็นต้น
เป็นสิ่งที่พบเห็น ได้จากชีวิตประจำวันทั่ว ๆ ไป เช่น การพูด เมื่อถึงตอนสำคัญที่ต้องการเน้น ก็พูดเน้นให้ดังขึ้น หรือลดระดับเสียงลง หรือหยุดเว้นระยะ เพื่อให้เป็นที่น่าสนใจ การเขียนก็เช่นกัน เมื่อถึงข้อความสำคัญที่ต้องการเน้น ก็ทำ ตัวอักษรให้หนาหรือใหญ่ หรือขีดเส้นใต้ ให้แตกต่างกว่าข้อความอื่น ๆ ตัวอย่างเหล่านี้ เป็นการสร้างจุดเด่นโดยทั่วไป .
การเน้น เป็นการกระทำให้เด่นเป็นพิเศษกว่าธรรมดา ในงานศิลปะจะต้องมี ส่วนใดส่วนหนึ่ง  หรือจุดใดจุดหนึ่ง ที่มีความสำคัญกว่าส่วนอื่น ๆ   เป็นประธานอยู่ ถ้าส่วนนั้นๆ อยู่ปะปนกับส่วนอื่น ๆ  และมีลักษณะเหมือน ๆ กัน  ก็อาจถูกกลืน หรือ ถูกส่วนอื่นๆที่มีความสำคัญน้อยกว่าบดบัง หรือแย่งความสำคัญ ความน่าสนใจไปเสียงานที่ไม่มีจุดสนใจ หรือประธาน  จะทำให้ดูน่าเบื่อ เหมือนกับลวดลายที่ถูกจัดวางซ้ำกันโดยปราศจากความหมาย หรือเรื่องราวที่น่าสนใจ       ดังนั้น  ส่วนนั้นจึงต้องถูกเน้น ให้เห็นเด่นชัดขึ้นมา เป็นพิเศษกว่าส่วนอื่น ๆ 
ต่อไปนี้เป็นแนวทางของการสร้างจุดเด่น ในงานทัศนศิลป์ ผ่านตัวอย่าง ผลงาน ของจิตรกรรม และงานออกแบบ ซึ่งผู้เรียนสามารถ พิจารณาได้ว่า บางภาพอาจมีจุดเด่นที่เกิดจาก ส่วนประกอบมูลฐานหลายส่วน แต่จะมีจุดเด่น หรือจุดสนใจ ที่เห็นได้ชัด เพียงจุดเดียวเท่านั้น แนวทางเหล่านี้ สามารถปรับเปลี่ยนได้และแต่ละแนวทาง สามารถใช้ผสมกันเป็น แนวทางใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีกมากมายไม่มีที่สิ้นสุด ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมาย และประสบการณ์ ของศิลปิน และนักออกแบบ
จุดเด่นในความหมายของทัศนศิลป์ ก็คือบริเวณหรือส่วนสำคัญของงานทัศนศิลป์ ที่ปรากฎขึ้น จากการเน้น (Emphasis) ของส่วนประกอบมูลฐาน และองค์ประกอบทัศนศิลป์ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างผสมกัน ซึ่งเมื่อสัมผัสด้วยสายตาแล้ว มีความชัดเจน เด่นสะดุดตาเป็น แห่งแรก เป็นจุดทีมีพลัง มีอำนาจดึงดูดสายตามากกว่าส่วนอื่น ๆ การเน้น ให้เกิดจุดเด่นในงาน ทัศนศิลป์เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะเป็นเครื่องเรียกร้อง ความสนใจ เพื่อชักจุงให้เข้าไปสัมผัส ในส่วนละเอียดต่อไป และเป็นการเพิ่ม ความน่าดู สมบูรณ์ ลงตัวขึ้นให้กับงานออกแบบนั้น
แต่การสร้าง จุดเด่นไม่ว่าโดยวิธีใดก็ตาม ต้องไม่ สร้างหลายจุดเพราะถ้ามีหลายจุด ก็จะแย่งความเด่นกัน ไม่รู้ว่าจุดเด่นที่แท้จริงอยู่ที่ใหน นอกจากนี้ ก็จะเป็นการ ทำให้เอกภาพในงานนั้นหมดไป การสร้างจุดเด่น เป็นองค์ประกอบหนึ่ง ของการสร้าง ความแตกต่าง
หลักเบื้องต้นในการพิจารณาสร้างจุดเด่น ในงานศิลปะ ก็คือ ศิลปิน หรือนักออกแบบ จะต้องกำหนดแนวทาง ของ การสร้างจุดเด่น ไว้ล่วงหน้า ก็คือ ตำแหน่ง ปริมาณ และที่สำคัญที่สุดก็คือ วิธีการสร้างจุดเด่น โดยใช้ส่วนประกอบ มูลฐาน และองค์ประกอบของทัศนศิลป์

แนวทางสร้างจุดเด่นในการออกแบบทัศนศิลป์
 การสร้างจุดเด่น ในทางทัศนศิลป์ ก็คือการสร้างจาก ส่วนประกอบมูลฐาน (Elements) และหลักการทัศนศิลป์ (Principles) อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ หลายอย่างผสมกัน ซึ่งจุดเด่นที่เกิดขึ้นนี้ ควรมีจุดเดียว แต่บางครั้ง อาจมีมากกว่าจุดเดียวก็ได้ แต่จุดเด่นที่เพิ่มขึ้นนี้ ต้องไม่แข่งกับจุดเด่นหลัก โดยเรียกว่า จุดเด่นรอง (Sub Dominance) เพราะมิฉะนั้น การมีจุดเด่นแข่งกันหลายจุด จะเป็นการทำลายเอกภาพของงานออกแบบนั้น แนวทางสร้างจุดเด่น มีดังต่อไปนี้
การสร้างจุดเด่นด้วยขนาด (Size)
วัตถุ หรือรูปร่าง รูปทรง ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจะเป็นสิ่งสดุดตา ก่อให้เกิด จุดสนใจได้ทันที ในเบื้องแรก
การสร้างจุดเด่นด้วยสี (Color)
สีที่มีความเข้ม สดใส (Color Intensity) ที่แตกต่างกว่าสีส่วนรวม ในภาพ ก็จะสร้างจุดสนใจได้ดี หรือสีและน้ำหนักที่แตกต่าง ก็สร้างจุดเด่น ได้เช่นกัน

การสร้างจุดเด่นด้วยตำแหน่ง (Location)
โดยธรรมชาติการมองของมนุษย์เราจะเริ่มจากบริเวณกลางภาพ ถัดขึ้นบน เล็กน้อย จึงมี กฎของการจัดองค์ประกอบภาพ ให้เกิด ความน่าสนใจ หรือ ที่เรียกว่า กฎ 3 ส่วน (Rule of Third)



กฎ 3 ส่วน (Rule of Third)
คือ การแบ่งพื้นที่ตามแนวนอน และแนวตั้ง ออกเป็น 3 ส่วนเท่ากัน ๆ จุด 4 จุดซึ่งเป็นจุดตัดของเส้นที่แบ่งนี้ จะเป็นจุดแห่งความสนใจ ในการวางตำแหน่ง องค์ประกอบที่ต้องการสร้าง จุดเด่นไว้ในตำแหน่งใด ตำแหน่งหนึ่งของ จุดตัดทั้ง 4 นี้
การสร้างจุดเด่นด้วยตำแหน่งอีกวิธีหนึ่งก็คือ นำองค์ประกอบที่ต้องการ สร้างจุดเด่นนั้น ใหแยกจากองค์ประกอบโดยรวม จะทำให้สายตาผู้ชมพุ่ง ไปยังตำแหน่งที่โดดเด่นนั้น
การสร้างจุดเด่นด้วยบริเวณว่าง (Space)   งานออกแบบที่มีจังหวะของการซ้ำ (Repetition) มากไป จะทำให้ น่าเบื่อหน่าย เหมือน ไม่มีจุดจบ ถ้าปรับจังหวะนั้นให้มีช่องว่าง ที่แตกต่างกันบ้าง ที่เรียกว่า จังหวะก้าวหน้า (Progressive) หรือการแยกตัว ให้เกิดพื้นที่ว่าง ก็สามารถสร้างจุดสนใจ ในบริเวณที่ต้องการได้
การสร้างจุดเด่นด้วยความแตกต่าง (Exception)   รูปร่าง รูปทรง หรือองค์ประกอบใด มีความแตกต่างจากส่วนรวม ย่อมเป็น จุดเด่นที่สุดในภาพนั้น
การสร้างจุดเด่นด้วยการแปรเปลี่ยน (Gradation)  การแปรเปลี่ยน หรือการลดหลั่นด้วยขนาด รูปร่าง สี น้ำหนัก โดยองค์ประกอบอื่น ยังคงเดิมนั้น      เป็นการสร้างจุดเด่น ได้ง่ายที่สุดวิธีหนึ่ง
การสร้างจุดเด่นด้วยทิศทางของสายตา (Eye Direction)   ทิศทางขององค์ประกอบที่ไปในทิศทางเดี่ยวกัน จะนำสายตาให้ มองติดตามไปในทิศทางนั้น และเมื่อองค์ประกอบนั้น มีการกลับทิศทาง ในทันที จะทำให้สายตานั้นหยุดการเคลื่อนไหวทันที จุดที่สายตาที่หยุดนิ่งนั้น เป็นจุดที่สร้างจุดเด่นให้เกิดขึ้นได้
การสร้างจุดเด่นด้วยทิศทางของเส้น (Converence of Line)   เส้นนำสายตาไม่ว่าจะเกิดจากเส้นลักษณะใด เช่นแท้จริง (Actual Line)หรือ เส้นโดยนัย (Implied Line) จะนำไปสู่จุดสนใจ ตามที่ต้องการได้ เส้นนำสายตา ที่เกิดจากขนาดที่แปรเปลี่ยน (Gradation) แม้ปลาย ของเส้น นำสายตานั้นจะมีรูปร่างขนาดเล็ก แต่สามารถเป็นจุดดึงดูดสายตาได้ มากกว่า รูปร่างขนาดใหญ่
การสร้างจุดเด่นด้วยการเพิ่มองค์ประกอบอื่นเข้าไป (Composition)   คือการเพิ่มส่วนประกอบมูลฐาน (Elements) ซึ่งได้แก่ จุด เส้น รูปร่าง พื้นผิว น้ำหนัก เข้าไปเป็นองค์ประกอบเสริม ให้จุดที่ต้องการเน้นให้เป็น จุดเด่น ซึ่งบางครั้ง วิธีนี้มีความจำเป็น เป็นการแก้ปัญหา ที่ไม่สามารถใช้วิธีอื่นใดได้
            พึงเข้าใจว่า การเน้น ไม่จำเป็นจะต้องชี้แนะให้เห็นเด่นชัดจนเกินไป สิ่งที่จะต้องระลึกถึง      อยู่เสมอ คือ เมื่อจัดวางจุดสนใจแล้ว จะต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้สิ่งอื่นมาดึงความสนใจออกไป จนทำให้เกิดความสับสน  การเน้น สามารถกระทำได้ด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ ของศิลปะ ไม่ว่าจะเป็น เส้น  สี แสง-เงา  รูปร่าง รูปทรง หรือ พื้นผิว  ทั้งนี้ขึ้นอยู่ความต้องการในการนำเสนอของศิลปิน          ผู้สร้างสรรค์